ก.แรงงาน จี้นายจ้างยื่นเอกสารตามม.35 ใน 31 ธ.ค. นี้
กระทรวงแรงงาน จี้นายจ้าง สถานประกอบการ หน่วยงานของรัฐ ที่ประสงค์ให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตาม ม.35 เร่งยื่นเอกสารกับกรมการจัดหางาน ใน 31 ธ.ค. นี้
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการสร้างงานและการส่งเสริมอาชีพให้คนพิการอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เลี้ยงตนเองได้ โดยได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งสร้างการรับรู้แก่นายจ้าง/สถานประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 33 และ 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556
โดยมาตรา 33 ระบุให้หน่วยงานของรัฐหรือนายจ้าง/สถานประกอบการรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ในสัดส่วนลูกจ้างคนพิการ 1 คน ต่อลูกจ้าง 100 คน และ มาตรา 35 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ประสงค์รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 อาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีพิเศษ ฝึกงาน จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งการยื่นเอกสารการให้สิทธิตามมาตรา 35 ต้องดำเนินการภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี
'' ขณะนี้ ใกล้ครบกำหนดระยะเวลาในการขอยื่นเอกสารให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 แล้ว จึงขอประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะใช้สิทธิตามมาตรา 35 ยื่นความจำนงกับกรมการจัดหางาน ในท้องที่ๆเป็นที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้าง/สถานประกอบการ โดยเขตกรุงเทพมหานคร แจ้งที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และในจังหวัดอื่นๆ แจ้งที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด'' นายสุชาติ กล่าว
ในส่วนของ การดูแล คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนพิการนั้น กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตการจ้างงานคนพิการ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์และแบบแผนแห่งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการร่วมดำเนินงานแก้ไขปัญหาทุจริตการจ้างงานคนพิการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการ และการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนพิการ
ขณะนี้มีผู้พิการในประเทศไทยจำนวนกว่า 1.9 ล้านคน เป็นคนพิการที่อยู่ในวัยกำลังแรงงาน 842,999 คน (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562) จากสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ ปี 2562 นั้น มีสถานประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 14,451 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนคนพิการ จำนวนทั้งสิ้น 69,953 คน โดยมาตรา 33 เป็นการจ้างงานโดยตรงระหว่างคนพิการกับสถานประกอบการจำนวน 38,150 คน กระทรวงแรงงานมีส่วนช่วยเหลือโดยการขึ้นทะเบียนคนพิการที่ประสงค์จะทำงาน ประสานส่งต่อเพื่อให้นายจ้างคัดเลือกและบรรจุงาน (ในปี 2562 บรรจุงานได้ จำนวน 1,899 คน) ซึ่งคนพิการจะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 112,420 บาท/คน/ปี
ส่วนมาตรา 35 เป็นกรณีสถานประกอบการให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้มีโอกาสประกอบชีพ หรือได้รับความช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ 7 ประเภท มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่ได้รับสิทธิ จำนวน 14,198 คน นับเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนพิการทั้งสิ้นกว่า 1,615,447,160 บาท