พิการเพียงร่างกายใช่จิตใจ
ต้องยอมรับว่าระยะหลัง ๆ หลายองค์กรเริ่มรับคนพิการเข้ามาทำงานกับพนักงานปกติเพิ่มขึ้น ทั้งนั้น อาจเป็นเพราะสังคมเปิดกว้างและยอมรับคนพิการมากขึ้น เห็นได้จากมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างพาราลิมปิกเกมส์ ที่คนพิการสามารถวิ่งแข่ง, ว่ายน้ำ, กระโดดไกล, ฟันดาบ และอื่น ๆ อีกมากมาย
จนบางคนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนปกติที่ดีพร้อมทุกอย่างเสียด้วย
ไม่ต้องถามว่าทำไมเขาถึงสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ?
เพราะคำตอบรู้กันอยู่แล้วว่า เขาและเธอเหล่านั้นนอกจากจะไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เขายังอยากที่จะมีที่อยู่ที่ยืนเพื่อให้คนปกติยอมรับ
ยอมรับว่าทำได้
ยอมรับว่าเขาและเธอไม่ได้แตกต่างไปจากคนปกติทั่วไป ที่สำคัญ เขาและเธอไม่อยากให้ใครรู้สึกสงสาร สมเพช หรือพลอยรังเกียจไปกับความพิการของเขา ผลเช่นนี้ จึงทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อคนพิการค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้บริการสาธารณูปโภค รวมไปถึงสิทธิและโอกาสในการทำงานด้านต่าง ๆ ด้วย
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีหลายองค์กรเริ่มรับคนพิการเข้ามาทำงานมากขึ้น เหมือนอย่างในอดีตที่แผนกคอลเซ็นเตอร์ของค่ายมือถือแห่งหนึ่ง เคยรับคนพิการทางสายตา หรือพิการทางร่างกายเข้าทำงาน รวมถึงท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เพาเวอร์บาย และห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ก็รับคนพิการเข้าทำงานเช่นกัน ทั้งในส่วนของพนักงานจัดวางสินค้า, แก้ไข ซ่อม เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ
หรือแดรี่ควีน ก็เคยรับคนพิการทางการได้ยินมารับออร์เดอร์ลูกค้า โดยทำเมนูเฉพาะเพื่อให้ลูกค้าชี้สินค้าที่ต้องการ
ฉะนั้น จะเห็นว่าการรับคนพิการเข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพิการทางสายตา พิการแขน ขา หรือพิการทางการได้ยิน จริง ๆ แล้วสามารถร่วมงานกับคนปกติได้ทั้งนั้น ขอให้มีตำแหน่งที่เหมาะสมและตรงกับความสามารถของเขาและเธอก็จะทำให้พวกเขาแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่
เรื่องการรับคนพิการเข้าทำงาน จริง ๆ แล้วมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงาน ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554