'IRPC Smart Farming ' วิถีเกษตรไฮเทคเพื่อคนพิการ
Smart Farming หรือที่รู้จักกันว่าเป็น "เกษตรอัจฉริยะ" ซึ่งเกษตรกรยุคใหม่ส่วนใหญ่ได้พยายามปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรดั้งเดิม มาเป็นวิถีไฮเทคมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาบูรณาการเข้ากับการทำเกษตร อาทิ การใช้ GPS ตรวจจับสภาพอากาศ การทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลควบคุมปัจจัยการเพาะปลูก เช่น Internet of Things (IoT) รวมไปถึงการจัดการเรื่องผลผลิต จนออกสู่ท้องตลาด เพื่อช่วยให้เกษตรกรทำงานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
ที่สำคัญก็คือ Smart Farming กระตุ้นความสนใจให้กับคนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตร กลับมาพัฒนาบ้านเกิดในต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2561 ระบุว่าประชากรไทยทำงานในภาคเกษตรกว่า 27 ล้านคน คิดเป็นประชากรกว่า 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นอาชีพพื้นฐานและยังเป็นรายได้สำคัญของประเทศอีกด้วย
โครงการ “IRPC Smart Farming” ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันการทำเกษตรอัจฉริยะ โดย ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ให้ความสำคัญกับโครงการ ซึ่งต่อยอดมาจาก "โครงการลำไทรโยงโมเดล" ที่มีบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
วัตถุประสงค์ของโครงการ IRPC Smart Farming มีเจตนาสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน และยกระดับเกษตรไทย ให้เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อนำมาพัฒนาตัวเอง และการทำการเกษตร นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากวิถีเดิมที่เคยปฏิบัติมา ที่สำคัญคือ โครงการยังเน้นให้โอกาสกับกลุ่มคนที่ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ตลอดจนผู้สูงอายุ รวมทั้ง ผู้ดูแลคนพิการติดเตียง ได้เข้ามาเรียนรู้การทำเกษตร โดยทาง IRPC ได้นำองค์ความรู้ และ เทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงไม่ซับซ้อนใช้งานได้ง่าย มาผสมผสานและปรับใช้ตามความเหมาะสมกับศักยภาพและวิถีชีวิตของตนเอง และพร้อมส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ให้แก่คนรุ่นต่อไป
โดยจะนำความสำเร็จของโครงการ ทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาภัยแล้ง สร้างระบบการจัดการน้ำ และใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม สร้างเป็นต้นแบบโครงการ Smart Farming ต่อไป
ในรายละเอียดตัวโครงการ พื้นที่ดำเนินโครงการตั้งอยู่ ณ ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาคนพิการ สังฆมณฑลอุดรธานี บ้านศรีวัฒนา อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี โดยมีคนพิการและผู้ดูแลคนพิการจำนวน 92 คน เข้ามาเรียนรู้และประกอบอาชีพ ทั้งด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ แต่เดิมทางศูนย์ฯ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง ส่งผลให้คนพิการต้องหยุดทำงานและขาดรายได้เลี้ยงชีพ
ความท้าทายของ IRPC ในการดำเนินโครงการครั้งนี้ คือ การพิจารณาคัดเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เหมาะสม สามารถนำมาปรับใช้กับพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเปิดโอกาสให้คนพิการ รวมถึง ผู้สูงอายุ และผู้ดูแลคนพิการติดเตียง ให้ได้เข้ามาเรียนรู้และฝึกฝนการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรม เพื่อนำไปสร้างอาชีพและรายได้ ให้แก่ตนเองและครอบครัว พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ในระยะเวลาประมาณ 3 ปี ซึ่งจะเริ่มขึ้นภายในปี 2564 – 2566
แผนเบื้องต้นมีการวางผังพื้นที่ต้นแบบ บนเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์ส่งเสริมพัฒนาคนพิการประมาณ 200 ไร่ โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความเหมาะสมมาปรับใช้ไม่ซับซ้อนและสามารถใช้งานได้ง่าย มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของเกษตรกรซึ่งเป็นคนพิการ สร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และคุ้มค่าแก่การลงทุน
โดยได้ร่วมกับศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแบบผสมผสาน อาทิ การให้น้ำแก่พืช โดยควบคุมและสั่งงานผ่าน Smart Phone การดูแลพื้นที่ผ่านกล้องวงจรปิด หรือการใช้ระบบการปลูกพืช ได้แก่ การปลูกพืชแบบผสมผสาน การปลูกพืชคลุมดิน รวมถึงการสร้างโรงเลี้ยงไก่ไข่พลังงานสะอาด โรงเรือนปลูกผักอัจฉริยะ และการติดตั้งระบบฉีดน้ำรดหลังคาโรงเรือนเลี้ยงไก่ เป็นต้น
2.การขับเคลื่อนโครงการ IRPC Smart Farming ผ่านการจ้างงานภายใต้โครงการ Restart Thailand ของ ปตท. โดยการจ้างแรงงานและนักศึกษาจบใหม่ มาร่วมโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม (Smart Farming & Smart Marketing) ระยะเวลา 12 เดือน ในทักษะอาชีพ Smart Farming จัดสรรมาจำนวน 6 คน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มาปฏิบัติงาน เพื่อดึงศักยภาพและความรู้ความสามารถ ในมิติของการเกษตร การบริหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์การเกษตร
ทั้งการสำรวจพื้นที่ การจัดการแหล่งน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีด้านการชลประทานในการปลูกพืช การใช้เทคโนโลยี Internet ในพื้นที่ทำการเกษตร การวางผังการจ่ายน้ำในแปลงสาธิต และการใช้อุปกรณ์ (หัวจ่ายน้ำแต่ละชนิด) การออกแบบและจัดทำแปลงปลูกผักสาธิต เป็นต้น ซึ่งทั้งหมด IRPC จะมีการติดตามและประเมินผลต่อไป .