‘ช่วยผู้พิการ’ ก้าวทัน ‘อัพสกิลดิจิทัล’ สร้าง ‘โอกาสอาชีพ’
สถานการณ์โควิด-19 หลายระลอกที่ผ่านมา ผู้พิการกลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่พบปัญหามากมาย และเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ถูกเลิกจ้างงาน รวมถึงมีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่จะถูกจ้างกลับเข้าไปในระบบแรงงานอีกครั้ง และยิ่งโลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นี่ก็ส่งผลทำให้ผู้พิการต้องปรับตัวอย่างมาก
…นี่เป็นปัญหาที่ “ผู้พิการไทย” ต้องเผชิญ ทั้งจาก “พิษโควิด” และ “เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง” จนส่งผล “กระทบโอกาสทางชีวิต” ซึ่งเรื่องนี้ถูกสะท้อนไว้ผ่านบทความ “อาชีพยุคดิจิทัล ความท้าทาย โอกาส และทางเลือกสำหรับคนพิการ” ที่ฉายภาพสถานการณ์
กับกรณีปัญหานี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ ฉายภาพไว้โดย ศรุตา เบ็ญก็เต็ม ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านบทความที่เผยแพร่ไว้ทางเว็บไซต์ www.depa.or.th ฉายภาพ ปัญหาของผู้พิการที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากสังคมไทยหลาย ๆ ภาคส่วน เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยการ “พัฒนาศักยภาพผู้พิการ” ให้สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ โดยที่ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ก็สามารถนำมาใช้เป็นกลไกหนึ่งเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต-เพิ่มโอกาสให้ผู้พิการได้…
ทั้งนี้ ศรุตา สะท้อนไว้ในบทความ “อาชีพยุคดิจิทัล ความท้าทาย โอกาส และทางเลือกสำหรับคนพิการ” ว่า… จาก มายาคติที่มักจะมองผู้พิการมีความแตกต่างและด้อยกว่าคนปกติทั่วไป ทำให้ผู้พิการมักถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง ที่ต้องรอเพียงความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ จนทำให้ ผู้พิการไทยถูกมองข้ามศักยภาพอื่น ๆ ที่สามารถจะทำได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป โดยดูได้จากช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่พบว่า…มีผู้พิการจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ต้องออกจากระบบแรงงาน และถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น แต่ คนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ไม่ได้รับโอกาสให้คืนกลับเข้าสู่ระบบแรงงาน
“ที่จริงปัญหานี้มีมาก่อนวิกฤติโควิด-19 ด้วยซ้ำ โดยถ้าหากดูจากสถิติในปี 2561 จะพบว่า…มีผู้พิการวัยแรงงาน หรือผู้พิการที่มีอายุระหว่าง 20-64 ปี ถูกจ้างงานเพียง 50% เท่านั้น และนอกจากนั้น ยังพบว่า…มีผู้พิการถึง 22% ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการจ้างงานต่ำ” …เป็นข้อมูลที่ทาง ศรุตา ได้สะท้อนไว้ กับกรณี “การจ้างงานคนพิการ”
กับประเด็น “คนพิการขาดโอกาสในการมีงานทำ”…
“เป็นพลเมืองชั้นสอง” แม้จะทำงานได้เหมือนคนปกติ
นอกจากนี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นยังมีการระบุไว้ว่า… ในยุคที่ มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กรณีนี้ยิ่งทำให้ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของผู้พิการยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น ซึ่งหากก้าวตามไม่ทันก็มีโอกาสที่ผู้พิการจะยิ่งเผชิญกับความเหลื่อมล้ำสูงเพิ่มขึ้น โดยผู้พิการก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการ “อัพสกิล-รีสกิล” เช่นกัน เพื่อให้สามารถก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีศักยภาพและความสามารถเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
“เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มผู้พิการให้ได้รับความรู้และข่าวสารอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะทำให้ผู้พิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพได้เต็มความสามารถ” …เป็นอีกมุมเพิ่มเติมที่มีการชี้ไว้
พร้อมกับมีการระบุไว้ด้วยว่า… ที่ผ่านมา จากการที่ผู้พิการเสียเปรียบทางด้านกายภาพ ทำให้ส่วนใหญ่ต้องประกอบอาชีพที่เป็นภาคแรงงานไร้ฝีมือ ทำให้ได้รับค่าตอบแทนในระดับที่ต่ำมาก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ก้าวสู่ยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ขอแค่มีความสามารถและสามารถเข้าถึงองค์ความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนไม่หยุดเรียนรู้ ผู้พิการก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้ จะช่วยให้ผู้พิการมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น ซึ่ง หากสามารถส่งเสริมพัฒนาด้านนี้ได้ ก็จะทำให้ภาวะความบกพร่องของผู้พิการกลายเป็นอดีต
และกับตัวอย่างในเรื่องนี้ ก็ได้มีการหยิบยก 1 ในโมเดลที่น่าสนใจขึ้นมาเป็นตัวอย่างไว้ นั่นก็คือโครงการ พัฒนาศักยภาพคนพิการด้านการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทาง depa ได้จับมือกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนในอาชีพให้กับ “ผู้พิการ” ผ่านทางการเป็น “เจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญาในชุดข้อมูล (Data Ownership)” ซึ่งเมื่อธุรกิจต่าง ๆ ที่สนใจได้มีการนำข้อมูลที่ผู้พิการเป็นเจ้าของชุดข้อมูลนั้นไปใช้ ผู้พิการจะได้รับปันผลจากทรัพย์สินทางปัญญา ดังกล่าว …นี่เป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาส่งเสริมผู้พิการ
เป็น “มุมกลับ-ด้านดีจากกรณีเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง”
“ยุคดิจิทัลเช่นนี้ มีงานรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายในตลาดแรงงาน ที่ผู้พิการสามารถเลือกให้ตรงกับคุณสมบัติของตัวเองได้ อีกทั้งโลกการทำงานยุคดิจิทัลนี้มีความยืดหยุ่นสูง ทั้งระยะเวลาการทำงานและสถานที่ จึงทำให้ผู้พิการมีทางเลือกสำหรับการทำอาชีพมากยิ่งขึ้น” …เป็นอีกส่วนจากที่ ศรุตา ระบุไว้ เกี่ยวกับ “อาชีพผู้พิการ”
ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมฝากถึงทุกภาคส่วน
“พัฒนาศักยภาพดิจิทัล” นี่เป็นอีก “วิธีช่วยผู้พิการ”
“ช่วยให้มีงาน-มีรายได้” นี่คือ “การช่วยที่ยั่งยืน”