ศิลปะจากผู้พิการทางสายตา สร้างคุณค่าส่งต่อเพื่อสังคม
บทสนทนาจะเริ่มน่าสนใจขึ้นทันทีที่เราเห็นชิ้นงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยสองมือของผู้พิการทางสายตา ผู้พบเห็นต่างประทับใจและเริ่มตั้งคำถามกับขั้นตอนการสร้างชิ้นงานภายใต้ โครงการ UOB Please Touch หรือ “โครงการกรุณาสัมผัส” ที่ทางธนาคารยูโอบี (ไทย) ได้ร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จัดขึ้นในปี 2559 และดำเนินโครงการต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบันนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยส่งเสริมทักษะความรู้ด้านศิลปะให้กับผู้พิการทางสายตา เพื่อสร้างโอกาสสู่การเป็นศิลปินอาชีพ
สำหรับครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่ได้มาเข้าร่วมเวิร์คช็อป “ศิลปะสัมผัสได้” กิจกรรมในโครงการกรุณาสัมผัส ที่นอกจากจะเพิ่มความรู้และทักษะให้ผู้พิการทางสายตาอายุระหว่าง 10-60 ปีที่มีความสนใจด้านศิลปะแล้ว ความพิเศษที่เพิ่มขึ้นคือ ทุกชิ้นงานจากทุกการสร้างสรรค์ของกลุ่มผู้พิการทางสายตาจะนำไปส่งต่อให้กับผู้อื่นก่อให้เกิดประโยชน์ นับเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าทางจิตใจให้กับกลุ่มคนรักงานศิลป์ที่อยู่ในโลกมืดนี้ได้อย่างมาก นับเป็นหัวใจของการจัดกิจกรรมในปีนี้เลยก็ว่าได้
สัญชัย อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและสนับสนุนธุรกิจ ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารยูโอบีไมีนโยบายเรื่องของการสนับสนุนโครงการทางด้านศิลปะ การศึกษา และเยาวชน ในทุกๆประเทศที่ธนาคารตั้งอยู่ โดยในปีนี้นอกจากพันธมิตรที่ดีอย่าง บริษัท กล่องดินสอแล้วธนาคารยังได้รับความร่วมมือจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่สนับสนุนด้านสถานที่และการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรม โดยความพิเศษของปีนี้คือผลงานทุกชิ้นจากการทำกิจกรรมเวิร์คชอปจะนำไปต่อยอดมอบให้กับมูลนิธิต่างๆ เรียกว่าส่งต่อผลงานศิลปะจากกผู้พิการทางสายตาให้กับสังคม ถือเป็นการแบ่งปันจากจุดเล็กๆ ของผู้พิการทางสายตาที่สามารถทำได้จากการสะท้อนออกมาผ่านผลงานทางศิลปะ
สัญชัย กล่าวว่าเวิร์คชอป “ศิลปะสัมผัสได้” ถือเป็นการเติมเต็มจินตนาการผ่านงานฝีมือให้กับผู้พิการทางสายตา ซึ่งจะได้เรียนรู้เทคนิค และวิธีการในการสร้างสรรค์งานศิลปะ จนสามารถพัฒนาเป็นงานฝีมือได้ โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา พร้อมด้วยอาสาสมัครพนักงานธนาคารยูโอบีที่เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง โดยพนักงานจิตอาสาของธนาคารได้ทำหน้าที่เป็นเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มผู้พิการทางสายตาในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เช่น ช่วยจับกรรไกร ไกด์ในการมัดเชือก มัดเส้นด้าย หรือช่วยจับอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้พิการทางสายตาในการสร้างงานศิลปะ
สำหรับกิจกรรมเวิร์คชอปในปีนี้จัดขึ้นจำนวน 5 ครั้ง ผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ศิลปะการทอผ้าด้วยกี่มือ เพื่อทำผ้ากันเปื้อน โดยผลงานจะนำไปมอบให้กับโครงการเข้าครัวด้วยกันเพื่อใช้ในการสอนผู้พิการทางสายตาทำอาหาร ครั้งที่ 2 ศิลปะการม้วนกระดาษ ทำกิ๊บติดผมและกล่องของขวัญ ซึ่งจะนำไปมอบให้กับสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านบุญญาทร ครั้งที่ 3 ศิลปะการถักเชือกเมคราเม่ ทำปลอกคอสุนัขเพื่อส่งมอบให้กับมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ปากเกร็ด ครั้งที่ 4 ศิลปะการปักผ้าแบบญี่ปุ่น เพื่อทำผ้าโพกหัวเพื่อนำไปส่งมอบต่อให้กับผู้ป่วยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และครั้งที่ 5 ศิลปะจากปลายเชือก เป็นการทำการ์ดคำศัพท์เพื่อนักเรียนในมูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย
รศ ทักษิณา พิพิธกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากรหลักในการให้ความรู้ด้านทฤษฎีทางศิลปะที่สำคัญ มองว่า ผู้พิการทางสายตามีศักยภาพเหมือนคนทั่วไป แต่สังคมส่วนใหญ่มักคิดว่าผู้พิการทางสายตาทำได้เพียงขายลอตเตอรี่หรือเล่นดนตรี ซึ่งจริงๆพวกเขาทำอะไรได้มากกว่านั้น อย่างในสังคมจะเห็นว่ามีผู้พิการประสบความสำเร็จมากมายหรือบางคนเก่งกว่าคนสายตาปกติด้วยซ้ำ ตรงนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าคนที่มองไม่เห็นไม่ใช่มีความสามารถน้อยกว่าคนที่มองเห็น แต่อยู่ที่ว่าเขาเข้าถึงองค์ความรู้ได้แค่ไหน เพราะหากมีโอกาสก็สามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกล
“เราควรให้ความรู้ไปถึงเขา เหมือนกับเราถ้าอ่านภาษาไทยออกก็จะมีความรู้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจภาษาอังกฤษเพิ่มด้วยก็จะมีความรู้มากกว่าคนที่อ่านออกเฉพาะภาษาไทย ซึ่งคนพิการก็เช่นกัน โครงการนี้เน้นให้ความรู้ด้านศิลปะทั้งการทำเวิร์คชอป ดูงานศิลปะ แก่ผู้พิการทางสายตา เพื่อให้เขาเข้าถึงผลงานศิลปะเพราะถ้าผู้พิการทางสายตาเข้าถึงความรู้ตรงนี้ มันจะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับคนกลุ่มอื่นๆที่มีข้อจำกัดเหมือนกัน เช่น เด็กที่ไม่เคยรู้เรื่องศิลปะ ถ้าเราทำให้คนที่มีข้อจำกัดสามารถเข้าถึงศิลปะได้ มันจะง่ายที่จะนำไปต่อยอดทำให้คนไม่มีความรู้เรื่องศิลปะสามารถเรียนรู้และเข้าใจมันได้ง่าย”
เจิดศิลป์ สุขุมินท หรือ ครูอาร์ท ครูศิลปะโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ผู้ที่คลุกคลีกับเยาวชนที่มีความพิการทางสายตาแต่หลงใหลงานศิลปะ บอกว่า เด็กกลุ่มนี้เหมือนคนปกติที่มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกัน ซึ่งเด็กพิการทางสายตาที่ชอบศิลปะมีวิธีดูไม่ยาก เขาจะเป็นคนกล้าแสดงออก มีความสงสัย อยากริเริ่มทดลองสิ่งต่างๆ จากนั้นก็อยู่ที่ว่าเขาจะต่อยอดได้มากน้อยเพียงใด
“สิ่งที่ผู้พิการทางสายตาได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม มองว่านอกจากได้ความเพลิดเพลินผ่อนคลาย ยังได้ฝึกสมาธิเพราะการทำศิลปะเป็นการให้เขาได้ใช้จินตนาการอย่างอิสระ ไม่มีอะไรไปบังคับเขา ทำให้เขาสามารถจดจ่ออยู่กับผลงานของตัวเอง และเมื่อได้ชิ้นงานก็ทำให้เขายิ่งรู้สึกภาคภูมิใจ ซึ่งตัวเองสัมผัสได้ว่าเด็กที่มาร่วมกิจกรรมนี้เขาสนุกและมีความสุขเมื่อได้อยู่กับศิลปะ”
ครูอาร์ท กล่าวเสริมว่า อยากให้หน่วยงานต่างๆเห็นความสำคัญส่งเสริมเรื่องศิลปะ เพราะทักษะด้านนี้นอกจากทำให้ผู้ที่มาสัมผัสรู้สึกผ่อนคลาย ยังนำไปต่อยอดเติมเต็มได้หลายเรื่องในชีวิต
“ถ้าใครเข้าใจศิลปะ จะเข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจโลกซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียนไม่สามารถให้ได้ ศิลปะไม่มีกรอบเหมือนมนุษย์ที่มีกรอบในชีวิต มนุษย์มากมายมักคิดว่าหากออกนอกกรอบต้องผิดเสมอ แต่เมื่อศิลปะไม่มีกรอบจึงทำให้ผู้ที่ได้สัมผัสรู้ทันทีว่า อะไรคือความดี อะไรคือกฎเกณฑ์ ซึ่งจะทำให้เขามองคนโลกกว้างขึ้นและเป็นมนุษย์ที่ยอดเยี่ยม”
รัตนา ผัดกันทา อายุ 50 ปี หรือที่ทีมงานทุกคนเรียกว่า “ป้ารัต” เข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้งตั้งแต่ปีที่แล้ว เล่าว่า ส่วนตัวชื่นชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก จะมีความสุขมากทุกครั้งที่ได้ทำ มองว่าสิ่งที่ได้จากการร่วมเวิร์ค ชอปคือวิชาความรู้ ซึ่งนำไปทำเป็นอาชีพเสริมได้จริง นอกเหนือจากงานประจำขายลอตเตอรี่ ทั้งนี้คิดว่างานศิลปะยังช่วยทำให้เป็นคนมีสมาธิไม่ฟุ้งซ่านและช่วยลดความเครียดได้ด้วย ที่สำคัญครั้งนี้ยังได้ทำและเอาไปให้คนอื่นต่อด้วย รู้สึกได้ว่าแม้เป็นสิ่งเล็กน้อยที่เราทำ ก็ยังได้แบ่งปันให้คนอื่นๆ
เด็กหญิงสุพรรษา วรรณโกษฐ์ “น้องเฟิร์น” อายุ 14 ปี หนูน้อยผู้พิการทางสายตาเข้าร่วมเวิร์คช็อป เป็นครั้งแรกเล่าว่า รู้สึกสนุกมาก อยากมาทำงานศิลปะแบบนี้บ่อยๆ โดยส่วนตัวปกติเป็นคนชอบทำงานศิลปะอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าเมื่อได้จับดินสอวาดรูปหรือระบายสีจะทำให้มีความสุขไม่เครียด บางครั้งนั่งทำงานนานกว่า 2-3 ชั่วโมง ขณะการมาร่วมกิจกรรมนี้รู้สึกสนุกและมีความสุขมาก คิดว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
วนิดา วิไลวรวิทย์ ผู้อำนวยการสายงานการตลาดธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารยูโอบี จิตอาสาที่เข้าร่วมเวิร์คชอปสอนผู้พิการสายตา บอกว่าสิ่งที่ได้จากการร่วมกิจกรรมนอกจากความสุขจากการเป็นผู้ให้ ยังทำให้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ว่าในโลกของผู้พิการสายตาก็มีมุมอื่นที่น่าสนใจอีกมาก นอกจากนี้ยังได้ทำบุญร่วมกับ ผู้พิการทางสายตา เพราะผลงานศิลปะทุกชิ้นจะถูกส่งต่อไปให้คนอื่นๆในสังคมที่มีความต้องการ
แม้จะเป็นเพียงผลงานจากผู้พิการทางสายตาที่อาจมองว่าไม่สวยงาม แต่ผลงานทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าทางจิตใจ สามารถส่งต่อให้กับผู้อื่นและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ศิลปะสัมผัสได้” จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและจุดพลังของเหล่าผู้พิการทางสายตาให้ก้าวข้ามและกลายเป็นศิลปินสร้างสรรค์ผลงานสร้างอาชีพได้ในอนาคตพร้อมกับจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันอีกด้วย