สารพัดช่างเชียงใหม่ สร้างโอกาสเพื่อคนพิการ
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษามอบหมายให้ ดร.นิติ นาชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์บริการงานศึกษาพิเศษ ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการและผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษา (Education for All) ณ ศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคเหนือ 2 (วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่) จังหวัดเชียงใหม่
วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น และรูปแบบออนไลน์ ที่ตอบโจทย์สำหรับผู้เรียนพิการทางการเคลื่อนไหว และสติปัญญา โดยจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Vocational Education) ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายในการส่งต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่การศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากโรงเรียนการศึกษาพิเศษ เช่นโรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนกาวิละอนุกูล
ทั้งนี้ด้วยจุดเน้นการดำเนินงานของวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการจัดการศึกษา “รูปแบบออนไลน์เพื่อการเข้าถึงทุกกลุ่มผู้พิการ” ส่งต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Transition to Work) การเป็นผู้ประกอบการ สนับสนุนให้ผู้เรียนพิการอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาหาร 3 มื้อ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพตามความสอดคล้องเหมาะสมกับประเภทความพิการ และให้ได้รับทักษะ soft skill- hard skill พัฒนาทักษะการดำรงชีวิต Independent Living (IL) เพื่อให้ผู้เรียนพิการมีความพร้อมต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้เรียนพิการบกพร่องทางสติปัญญา เข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาการชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรระยะสั้นที่หลากหลายอาชีพสำหรับคนพิการ เช่นหลักสูตรการทำเครื่องหนังหนัง,หลักสูตรการนวดแผนไทย และหลักสูตรงานศิลปะ
โดยวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ มีความพร้อมในการจัดสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการอื่นใด ในการรองรับการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และการขยายโอกาสทางการอาชีวศึกษา มีศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาพิการ (DSS CENTER) ในการให้คำปรึกษา สร้างภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน สนับสนุนบริการล่ามภาษามือในการเรียนการสอน มีทุนการศึกษาโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มีศูนย์บ่มเพาะอาชีพสำหรับผู้เรียนพิการ เช่น การทำเครื่องหนัง (กระเป๋า) ผู้เรียนพิการบกพร่องทางการเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้เรียนพิการทางการเคลื่อนไหว ได้ฝึกทักษะในการปฏิบัติ ซึ่งวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ เป็นวิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยแห่ง “โอกาส” กับคนทุกกลุ่มให้เข้าถึงการศึกษาครอบคลุมทุกมิติการศึกษาของผู้เรียนพิการก่อให้เกิดผลดี มีประสิทธิภาพ เป็นผลการทำงานเชิงประจักษ์ต่อการจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ “สร้างโอกาส เสมอภาค สู่การมีงานทำ”