ชัชชาติ เผยจัดสอบผู้พิการผ่าน 200 กทม.รับได้แค่ 11 หน่วยงานไหนสนใจติดต่อได้
ชัชชาติ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายคนพิการ สร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 เมษายน ที่ห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. และนายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. แถลงผลการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2566
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการ โดยคณะกรรมการฯ เน้นการขับเคลื่อนใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพดี ด้านเรียนดี ด้านเศรษฐกิจดี ด้านโครงสร้างและเดินทางดี และด้านบริหารจัดการดี
นายชัชชาติ กล่าวว่า ด้านสุขภาพดี ได้พัฒนาระบบการบริการเพื่อการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการด้านการสาธารณสุข และด้านการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันสำรวจสถานะสุขภาวะคนพิการครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการค้นหาคนพิการเชิงรุกในชุมชน เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ รวมทั้งจัดบริการรถสุขภาพเชิงรุกถึงชุมชน พร้อมทั้งจัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้บริการสาธารณสุขกับคนพิการ เช่น Mobile Medical Unit, ออกหน่วยชคัดกรอง, ติดตามเยี่ยมบ้าน
นอกจากนี้คนพิการเข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยสะดวกรวดเร็วและมีมาตรฐาน โดยมีการจัดตั้ง One Stop Sevice ในโรงพยาบาลสังกัดกทม. 12 แห่ง รวมทั้งจัดบริการช่องทางพิเศษในการให้บริการแก่ผู้สูงอายุและคนพิการ (Fast Track) ในศูนย์บริการที่ 69 แห่งและโรงพยาบาลในสังกัดการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service for person vith disabilities) ในโรงพยาบาล 12 แห่ง
ตลอดจนให้บริการแบบ Telemedicine เพื่อให้บริการด้านการรักษาและให้คำปรึกษาผ่านระบบโทรศัพท์ของโรงพยาบาลสังกัด กทม.9 แห่ง โดยเชื่อมต่อระหว่างระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) และใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นหมอกทม., โดยสามารถให้บริการได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคทั่วไปครอบคลุม 42 กลุ่มโรค ตามประกาศของ สปสช.
นายชัชชาติ กล่าวว่า ต่อมาด้านการเรียนดี ได้จัดการศึกษาพิเศษในโรงเรียนสังกัดปัจจุบัน มี 158 โรงเรียน มีนักเรียนพิการจำนวน 4,213 คน มีเป้าหมายจะพัฒนาบุคลากรสังกัดให้มีทักษะความรู้ ความสามารถในการจัดการศึกษาพิเศษ และเตรียมความพร้อมเด็กพิการโดยให้นักเรียนพิการได้รับการอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมสู่การมีงานทำ พัฒนาบุคลากรครูทุกคนให้เป็นครูการศึกษาพิเศษ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ต่อมาด้านเศรษฐกิจ ได้จ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ปัจจุบัน กทม.มีการจ้างงานคนพิการแล้ว จำนวน 361 คน ซึ่งแบ่งเป็นข้าราชการลูกจ้าง จำนวน 62 ราย อาสาสมัครตามโครงการต่างๆ จำนวน 299 คน และยังพัฒนาแพลตฟอร์ม Live Chat Agent เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่สำหรับคนพิการ ตำแหน่งอาสาสมัครคนพิการ รับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ แพลตฟอร์ม Live Chat Agent เป็นการออกแบบตำแหน่งงานและวิธีการทำงานร่วมกับสายงานประชาสัมพันธ์ของ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตรับคนพิการทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ การพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้น เพื่อคนพิการที่ไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้สะดวก
โดยลักษณะงาน เป็นการทำงานให้ข้อมูล, ตอบคำถาม และรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน ผ่านช่องทางออนไลน์ของสำนักงานเขต เช่น Facebook และ Group Line บนแพลตฟอร์ม Live Chat Agent ที่ออกแบบให้คนพิการสามารถทำงานได้ โดยการกรอกข้อมูลการร้องเรียน เพื่อรวบรวมในช่องทางทราฟฟี่ฟองดูว์ โดยทดลอง 2 เขต คือเขตบางขุนเทียน และเขตภาษีเจริญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ
ระบบและเตรียมความพร้อม คาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงในวันที่ 1 พ.ค.นี้
“กทม.จัดสอบผู้พิการซึ่งสอบผ่าน 200 กว่าคน แต่ กทม.รับได้เพียง 11 คน ซึ่งหน่วยงานใดอยากรับคนพิการเข้าไปทำงาน สามารถมาขอข้อมูลได้ จะทำให้คนพิการเข้าถึงแหล่งงานได้มากขี้น” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ต่อมาด้านโครงสร้างและเดินทางดี ได้ปรับปรุงป้ายรถโดยสารประจำทาง จัดบริการรรถโดยสารแก่คนพิการและประชาชนทั่วไป พัฒนาทางเท้าย่านธุรกิจ และพัฒนาทางเท้าในพื้นที่เขตราชเทวี เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองที่ไม่ทิ้งใคร รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงการเข้าถึงสถานีและการเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ต่อมาด้านบริหารจัดการดี ได้พัฒนา แพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลคนพิการผ่านระบบ Line OA ชื่อ “กรุงเทพฯ เพื่อทุกคน (Bangkok for AIl)” เพื่อเป็นเครื่องมือเชื่อมให้คนพิการในพื้นที่กรุงเทพฯได้รับสวัสดิการและบริการด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่าง รวมทั้งปรับปรุง พัฒนากฎหมาย และการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ