ญี่ปุ่นกับชีวิตที่มาบรรจบกันของคน “พิการ” และคน “ปกติ”

ญี่ปุ่นกับชีวิตที่มาบรรจบกันของคน “พิการ” และคน “ปกติ”

คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันเพิ่งอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตของผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็น และความรักของเขากับผู้หญิงที่ไม่ได้พิการ ทำให้เห็นความ “ปกติ” ของผู้พิการที่ไม่ต่างอะไรจากคนทั่วไปในหลายด้าน แต่ในขณะเดียวกันข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตหลายประการก็สร้างความเจ็บปวดให้พวกเขาด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องราวที่เขียนได้น่าติดตามตลอดทั้งเรื่อง น่าประทับใจ และให้ข้อคิดหลายแง่

การ์ตูนเรื่องนี้มีชื่อว่า “Perfect World” ส่วนฉบับภาษาไทยชื่อ “โลกทั้งใบมีเพียงเธอ”เขียนโดย อารุกะ ริเอะ ได้รับรางวัลการ์ตูนผู้หญิงดีเด่นจากสำนักพิมพ์โคดังฉะ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ต้นสังกัดของผู้เขียน เรื่องนี้ยังมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครเมื่อปี พ.ศ. 2561 และ 2562 ด้วยตามลำดับ

พระเอกของเรื่องเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ หัวดี เป็นนักบาสเก็ตบอลสมัยเรียนมัธยมปลาย แต่ต่อมาประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังจึงเป็นอัมพาตครึ่งตัว ไม่สามารถเดินหรือควบคุมการขับถ่ายได้ แต่เขาก็มุมานะจนได้ทำงานเป็นสถาปนิกดังที่เคยฝันไว้ โดยถนัดในการออกแบบบ้านที่ไร้สิ่งกีดขวาง (barrier-free) สำหรับผู้พิการ

ส่วนนางเอกซึ่งแอบรักเขามาตั้งแต่สมัยเรียน ก็ได้มาพบกับเขาอีกครั้งหลังจากที่เขานั่งรถเข็นแล้ว ทั้งสองคบหาดูใจกัน แต่ก็ถูกพ่อแม่ฝ่ายหญิงคัดค้านหัวชนฝา เพราะอยากให้ลูกสาวมีชีวิตที่ “ปกติ” เหมือนคนอื่นและไม่ต้องลำบาก ส่วนพระเอกซึ่งมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ก็มีความทุกข์ใจที่ไม่อาจเป็นที่พึ่งหรือปกป้องดูแลคนรักได้เต็มที่เท่าคนปกติ ทั้งสองฝ่าฟันอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ นานาที่มีระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ ทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แม้ว่าจะต้องเดินอ้อมหรือลำบากกว่าคนอื่นบ้างก็ตาม การไม่ย่อท้อและผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้นั่นเอง ทำให้พวกเขาเห็นด้านที่งดงามของชีวิตที่ไม่เป็นใจ และเข้าใจความหมายของความทุกข์ยากที่ต้องเจอ

ผู้เขียนยังให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนเป็นอัมพาตครึ่งตัวด้วย เช่น เป็นแผลกดทับได้ง่าย หรือเมื่อบาดเจ็บที่ขาก็จะไม่รู้ตัวเพราะไม่มีความรู้สึกในส่วนนั้น แต่บางทีก็กลับปวดขารุนแรงขึ้นมาเฉย ๆ ทั้งที่ส่วนนั้นเป็นอัมพาตน่าจะไม่มีความรู้สึกแล้ว พวกเขายังลำบากเวลาไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่มีการออกแบบที่รองรับไว้สำหรับคนนั่งรถเข็น แม้กระทั่งสถานหลบภัยจากแผ่นดินไหวก็อาจจะเป็นอาคารที่มีห้องน้ำอยู่ชั้นสองซึ่งต้องขึ้นบันไดไปเท่านั้น ทำให้คนนั่งรถเข็นไม่สามารถใช้เป็นที่หลบภัยได้เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เห็นสภาพจิตใจของพวกเขาที่คร่ำเครียด เป็นทุกข์กับร่างกายตนเองที่มีข้อจำกัดและต้องพึ่งพาคนอื่นในบางเรื่องอีกด้วย

อาจเป็นนิสัยของคนญี่ปุ่นเองที่ขี้เกรงใจและไม่อยากรบกวนคนอื่น หรือไม่ก็อาจเป็นความรู้สึกลึก ๆ ของผู้พิการ จึงทำให้พระเอกเกรงใจที่จะขอความช่วยเหลือคนอื่นในบางเรื่อง หรือไม่ยอมบอกความต้องการที่แท้จริงในใจ แต่เมื่อคนรอบข้างรู้ต่างก็พยายามช่วยกันคนละไม้คนละมือให้พระเอกได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และนางเอกก็จะบอกเสมอว่าไม่เคยคิดว่าพระเอกเป็นภาระ และมีอะไรก็อยากให้บอก หลัง ๆ พระเอกก็เริ่มจะยอมรับความจริงได้ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่จะขอความช่วยเหลือคนอื่นในสิ่งที่ทำเองไม่ได้ แต่อะไรที่ทำเองได้ก็ทำ พอพระเอกทำใจได้แบบนี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น และคนใกล้ตัวก็สบายใจขึ้นด้วย

คนเขียนการ์ตูนเรื่องนี้เล่าว่าได้มีโอกาสสัมภาษณ์สามีภรรยาที่นั่งรถเข็นทั้งคู่ ฝ่ายภรรยาบอกว่าชอบการ์ตูนเรื่องนี้นะ แต่ไม่เห็นด้วยอย่างเดียวตรงที่พระเอกบอกว่า “ไม่เคยคิดเลยว่าดีที่พิการ ” เพราะเธอรู้สึกจากใจจริงว่าดีแล้วที่ร่างกายเธอเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ไม่อย่างนั้นคงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เธอไม่รู้ คงมีผู้คนมากมายที่เธอจะไม่มีโอกาสได้พบ เธอจึงรู้สึกว่าชีวิตของเธอดีมาก คนเขียนบอกว่าเป็นคำพูดที่ตราตรึงใจมากทีเดียว

พออ่านเรื่องนี้แล้วฉันก็นึกไปถึงคนรู้จักชาวญี่ปุ่นที่มีภาวะสมองพิการมาแต่กำเนิด ร่างกายเขาจะเกร็งไปทั้งตัวจนดูเบี้ยว ๆ คด ๆ เวลาเดินก็ไม่สามารถเดินเต็มฝ่าเท้าได้ ต้องกระย่องกระแย่งทีละก้าว ฉันเคยเดินขึ้นเนินกับเขาและเพื่อน ๆ เห็นเขาเหงื่อโทรมใบหน้าทั้งที่อากาศหนาว คงเพราะต้องออกแรงมากกว่าปกติในการพยุงตัว นิ้วมือก็ไม่สามารถควบคุมให้พิมพ์ดีดได้ เวลาจะพิมพ์อะไรในคอมพิวเตอร์ก็ต้องใช้ปลอกสวมศีรษะที่มีก้านยื่นออกมาตรงกลาง แล้วขยับศีรษะให้ก้านนี้จิ้มลงไปบนแป้นพิมพ์ทีละตัว ๆ ส่วนเวลาเขาพูดก็จะฟังยากมากและใช้เวลานานกว่าจะพูดจบประโยค ต้องตั้งใจฟังจึงจะพอจับใจความได้

แต่แม้จะลำบากขนาดนี้ เขาก็อดทนสู้มาจนเรียนจบปริญญาโทอย่างภาคภูมิและต่อด็อกเตอร์ด้วย เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสังคมหลายอย่าง ทำกิจกรรมตลอด เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ ผมต้องอยู่กับความพิการไปตลอดชีวิต เพราะงั้นก็จะอยู่กับมันด้วยรอยยิ้ม ” เขาเป็นเพื่อนที่ฉันภูมิใจและชื่นชมมาก ๆ หลายครั้งฉันก็เตือนตัวเองว่าก่อนที่จะคิดถอดใจอะไร เราอดทนได้เท่าเขาหรือยัง สู้ได้เท่าเขาหรือยัง แล้วฮึดสู้ต่อ

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญกับผู้พิการมากในระดับหนึ่ง เช่น มีการออกแบบอาคารสถานที่ให้รองรับผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสำหรับผู้พิการ บันไดเลื่อนหรือทางลาดสำหรับผู้ใช้รถเข็น พื้นที่บนรถโดยสารและรถไฟที่เว้นว่างไว้สำหรับผู้ใช้รถเข็น รถโดยสารยังสามารถลดระดับความสูงของพื้นลงมาจนเท่ากับความสูงพื้นถนนของผู้ใช้รถเข็น เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นขึ้นรถโดยสารได้สะดวกด้วย นอกจากนี้ ยังมีอักษรเบรลล์ที่ติดไว้ในลิฟต์ ที่ราวจับข้างบันได และในรถไฟหัวกระสุนชิงกันเซ็น หรือกระทั่งบนเครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง รวมไปถึงแถบสีเหลืองตะปุ่มตะป่ำที่พาดไปตามถนนหนทางสำหรับผู้พิการทางสายตา และอื่น ๆ อีก

ซ้าย - การโดยสารรถไฟของผู้ใช้รถเข็นที่ผ่านมา ต้องมีเจ้าหน้าที่เอาแผ่นเหล็กมาพาดและเข็นรถให้

ขวา - มีการปรับพื้นชานชาลาให้สูงเท่ากับพื้นรถไฟและลดช่องว่างระหว่างชานชาลากับขบวนรถไฟ ผู้ใช้รถเข็นจึงสามารถขึ้นลงรถไฟเองได้สะดวก

การออกแบบเหล่านี้เรียกว่า “barrier-free design” (การออกแบบให้ไร้สิ่งกีดขวาง) เกิดขึ้นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้พิการสามารถใช้งานได้โดยไม่มีอุปสรรค สำหรับญี่ปุ่นแล้วความตระหนักในการออกแบบชนิดนี้ยังถือกันว่าอยู่กลาง ๆ เพราะถึงแม้จะมีสถานที่หลายแห่งมากขึ้นที่ออกแบบให้ไร้สิ่งกีดขวาง แต่ก็ใช่ว่าทุกหนแห่งจะกลายเป็นพื้นที่ไร้สิ่งกีดขวางทั้งหมด ร้านค้าที่นั่งรถเข็นเข้าไปได้ก็ยังมีน้อย และสถานีรถไฟบางแห่งก็ไม่มีลิฟต์

อย่างไรก็ตามการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียว 2020 ก็เป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นผลักดันโครงการ Universal Design 2020 (การออกแบบเพื่อทุกคน) โดยปรับปรุงสถานที่สาธารณะและพื้นที่สัญจรให้ไร้สิ่งกีดขวาง รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการออกแบบให้ไร้สิ่งกีดขวางด้วย

อนึ่ง “Universal Design” นี้ เป็นคำที่ Ronald Mace หนึ่งในผู้ใช้รถเข็นชาวอเมริกันซึ่งเป็นทั้งสถาปนิกและนักออกแบบผลิตภัณฑ์คิดขึ้นในทศวรรษที่ 80 เพื่อนิยามถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน และไม่มีใครถูกละเลยไป

ญี่ปุ่นยังมีเว็บไซต์หลายแห่งที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถเข็นด้วยนะคะ เผื่อเวลาต้องการเดินทางไปไหนมาไหนจะได้ทราบว่าที่ไหนบ้างที่สามารถนั่งรถเข็นผ่านได้ ซึ่ง สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้รวบรวมไว้ที่เว็บเพจ บางลิงค์มีทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอื่นประกอบด้วย

ส่วนเว็บไซต์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจได้แก่ accessible-japan ซึ่งจัดทำโดย Josh Grisdale ผู้ใช้รถเข็นที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น เว็บนี้รวบรวมข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและโรงแรมที่สามารถนั่งรถเข็นไปได้ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางด้วยรถไฟ และอื่น ๆ อีกมาก น่าจะเป็นประโยชน์มากทีเดียวสำหรับชาวต่างชาติที่ใช้รถเข็น เห็นเว็บไซต์ดี ๆ แบบนี้ก็รู้สึกขอบคุณคนทำที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อจริง ๆ

ถ้าสังคมเราให้ความสำคัญกับผู้พิการไม่น้อยไปกว่าผู้ไม่พิการ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงการดำรงชีวิตของพวกเขาร่วมกับคนทั่วไปได้มากเท่าไร มุมมองว่าปัญหาอยู่ที่ความพิการก็น่าจะยิ่งลดน้อยลง อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือรู้สึกแย่กับตัวเอง และสามารถใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพ ตลอดจนมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างแท้จริง จะดีแค่ไหนถ้าวันหนึ่งเราได้เห็นโลกแห่งความเสมอภาคของผู้พิการกับผู้ไม่พิการ ที่ชีวิตของพวกเรามาบรรจบกันและอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นเรื่องธรรมดา

ขอบคุณที่ติดตามอ่านและให้กำลังใจนะคะ แล้วพบกันสัปดาห์หน้าเช่นเคย สวัสดีค่ะ.

ขอบคุณ... https://mgronline.com/japan/detail/9640000105141

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 24 ต.ค.64
วันที่โพสต์: 25/10/2564 เวลา 10:51:35 ดูภาพสไลด์โชว์ ญี่ปุ่นกับชีวิตที่มาบรรจบกันของคน “พิการ” และคน “ปกติ”