ศูนย์ช่วยเหลือคนพิการอีก 1,000 คน ....ผู้หญิงท่องโลก: ยะลา....เวลานี้ (1)

ขณะที่สถานการณ์การเมืองในกรุงเทพฯ กำลังร้อนระอุ ดิฉันกลับมีภารกิจสวนทางล่องใต้ไปยังจังหวัดยะลา ไปยืนอยู่ที่อำเภอสุดเขตแดนไทย เจ้าของโลเกชั่นหนังน่ารักในใจใครหลายคนที่ชื่อ "โอเคเบตง" ไปเปิดศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่โรงเรียนบ้านใหม่ (วันครู) 2503 กม.39 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง

งานนี้มีผู้ใหญ่ใจดีมากันคับคั่ง อาทิ ผศ.ไกรสร ศรีไตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ จ.ยะลา รับหน้าที่รายงานวัตถุประสงค์ความเป็นมาในการจัดตั้งศูนย์ฯ อาจารย์นพพร สุวรรณรุจิ หัวหน้าโครงการติดตามจังหวัดดีเด่น สสค. มาสรุปภาพรวมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันของคนยะลา แต่คนที่มาแรงสุดคงจะได้แก่ นายเดชรัฐ สิมสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา มาตั้งแต่เปิดงาน อยู่ดูงานทุกส่วน ทำให้เกิดกำลังใจจากบรรดาคุณครูของทุกคนที่ร่วมทำงาน

แม้จะเป็นโครงการที่จัดขึ้นเล็กๆ แต่การเตรียมความพร้อมค่อนข้างอลังการ เด็กๆ ในวงดุริยางค์ซ้อมเพลงกันมาอย่างพร้อมพรั่ง ขณะที่อีกส่วนเตรียมการมาสำหรับการแสดงว่าด้วยอาเซียน ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็มาร่วมกิจกรรมกันตั้งแต่เช้า

นอกจากการเปิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการแล้ว วันต่อมายังมีการเปิด "มหกรรมการเรียนรู้สู่สังคมท้องถิ่นฉบับคนยะลา" ขึ้น โดยเนื้อหาที่เป็นใจความสำคัญคือ ประกาศให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยท่านผู้ว่าฯ ยะลาให้ข้อมูลว่า การจัดการศึกษาของ จ.ยะลา ก็คงเหมือนกับการศึกษาทุกระบบในประเทศไทยภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) แต่หากมาวัดกันที่เรื่องคุณภาพการศึกษาก็ต้องยอมรับว่า จ.ยะลาก็คงเหมือนปัตตานี และนราธิวาส คือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ เด็กยังคงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดแก้ปัญหาไม่เป็น

แต่ปัญหาอีกเรื่องที่สำคัญคือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กด้อยโอกาสมีจำนวนมากถึง 11,000 คน ดังนั้น ในปี 2557 จ.ยะลา จะเร่งแก้ปัญหานี้ เพราะ ศธ.แก้เฉพาะปัญหาการศึกษาที่อยู่ในระบบ-นอกระบบ ซึ่งยังแก้ได้ไม่ตกผลึกเลย กลายเป็นว่าขณะนี้ผลการศึกษาของประเทศไทยอยู่ลำดับ 8 ในอาเซียน แต่เด็ก 11,000 คน เป็นส่วนใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยการระดมพลังจากทุกภาคส่วน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ จำนวน 6,000 คน หลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะอ้างว่าเกิดจากพ่อแม่ยากจน ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่ายากจนจริง

ดังนั้น การแก้ไขจะต้องแก้ปัญหา 2 ส่วน คือ 1.แก้ความยากจนของพ่อแม่ด้วยการให้อาชีพ ให้งานทำ โดยท้องถิ่น อบจ. เทศบาล อบต. พม. รวมทั้งการพัฒนาชุมชน ฝ่ายปกครอง เพื่อให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น 2.เร่งปลูกจิตสำนึก เพราะนอกจากจะให้เงินแล้วต้องให้ความรู้ด้วย อีกทั้งส่วนใหญ่แต่ละครอบครัวมีลูกค่อนข้างเยอะยิ่งเพิ่มความยากจน จึงต้องปลูกจิตสำนึกว่าถ้าจนแล้วไม่ให้ลูกเรียนจะยิ่งโคตรจน ถ้าจะหายจนต้องให้ลูกเรียนหนังสือ

ดังนั้น ความสำเร็จในการจัดการศึกษาของ จ.ยะลา จุดเด่นคือการรวมพลัง เพราะในความเป็นจริงแล้วปัญหาการศึกษาของ จ.ยะลา หรือใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าไม่มีบุคลากรทางการศึกษา ไม่ใช่ว่าไม่มีงบประมาณ แต่เกิดจากไม่รวมพลังกัน ต่างคนต่างทำ ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นแบบขาดๆ เกินๆ บางอย่างก็แก้ไขจนมากเกินไป หลายเรื่องไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาพบว่ามีถึง 35 หน่วยงาน ต่างคนต่างทำ

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2556 จึงตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและ เยาวชน โดยมี 35 หน่วยงานมาเป็นคณะทำงานทั้งหมด เพื่อขับเคลื่อนการศึกษา ซึ่งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ทำให้การแก้ไขปัญหาผนึกกำลังกันได้ และเมื่อรวมพลังกันแล้วผลดีที่เกิดขึ้นคือ การมีฐานข้อมูลที่เป็นระบบชัดเจน และสามารถส่งต่อไปยังองค์กร หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รวดเร็วขึ้น เช่น กรณีเด็กด้อยโอกาสอยู่ที่ไหนบ้าง สามารถตามตัวมาเข้าเรียนได้ เพราะเรามีศูนย์ปฏิบัติการนำร่องให้เทศบาลรับผิดชอบถึง 6 ศูนย์

นอกจากนี้ก็ มีศูนย์ช่วยเหลือคนพิการอีก 1,000 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และมีศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 2 เข้ามาช่วย อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือ การศึกษาปฐมวัยที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้รับผิดชอบ มอบให้ท้องถิ่นดำเนินการเอง ซึ่งท้องถิ่นก็สามารถบริหารจัดการเองได้ และจัดการได้ดีเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากทุกคนเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาปฐมวัยสำคัญมาก ตามปรัชญาการศึกษาสมัยใหม่ จากแนวความคิดนี้จึงทำให้เราตื่นตัว และจะไม่ให้เกิดคำพูดที่ว่า กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว

"สิ่งที่ยังต้องการที่สุด คือ การรวมพลัง โดยตั้งปรัชญาไว้เลยว่า ในปี 2557 เป็นปีรวมพลังชาวยะลา พัฒนาสู่อาเซียน ผมพร้อมจะประกาศให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งได้กำหนดนโยบายแผนวางไว้แล้วว่า การพัฒนาและสร้างโอกาสทางการศึกษาต้องอยู่ในวาระแรกจาก 16 วาระของจังหวัด ซึ่งต้องรวมพลังกันทั้งหมด จังหวัดจะถือเป็นความเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้ได้รับการศึกษา จะต้องให้เด็กกลับเข้ามาสู่ในระบบการศึกษาให้ได้ ดังนั้น ในปี 2557 เราจะทำงานเชิงรุก เน้นพิเศษเด็กปฐมวัย เด็กด้อยโอกาส ขาดโอกาสทางการศึกษา เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ โดยภายในปี 2558 เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 90% จะต้องนำกลับมาสู่ระบบการศึกษาให้ได้ จึงอยากย้ำหนักๆ ว่า เรื่องการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ จึงต้องการการรวมพลัง การช่วยกันคนละไม้ละมือจากทุกหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานมีภาระหน้าที่ไม่เหมือนกัน แต่จากนี้เราจะต้องผนึกกำลังช่วยเหลือกัน ทุกคนต้องเสียสละ รวมพลัง ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดก็ตาม ผมเป็นคนนราธิวาส คนพื้นที่ไม่ทำแล้วใครจะทำ ขอเป็นหัวหอกในการทำและขอบคุณทุกคนทุกภาคส่วนที่มาร่วมมือกัน

นี่เป็นบางส่วนบางตอนที่น่าสนใจ เมืองหลวงยังวุ่นวาย แต่ชายแดนอย่างยะลา ก็มีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้กัน คราวหน้ามาว่ากันต่อ

ขอบคุณ http://www.ryt9.com/s/tpd/1797700

(โพสต์ทูเดย์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 ธ.ค.56)

ที่มา: โพสต์ทูเดย์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการ
วันที่โพสต์: 16/12/2556 เวลา 07:17:34