เด็กพิเศษ 4 โรค เสี่ยงจมน้ำตื้นตาย เหตุขอความช่วยเหลือไม่เป็น
กรมสุขภาพจิต เตือนผู้ปกครองระวัง “เด็กพิเศษ” 4 โรค ลงเล่นน้ำ เสี่ยงจมน้ำได้สูงแม้ในน้ำตื้น เหตุอ่านหนังสือไม่ได้ ไม่รู้ถึงภัยอันตราย ร้องขอความช่วยเหลือไม่เป็น พร้อมให้ รพ.จิตเวชทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือดูแลประชาชนหากเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากพายุเซินกา
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อนเซินกา ที่จะส่งกระทบให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และ ตะวันออก วันที่ 25 -28 ก.ค. นี้ ว่า หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ได้สั่งการให้ รพ.จิตเวช สถาบันเฉพาะทางด้านจิตเวช และศูนย์สุขภาพจิตรวม 32 แห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมทีมเยียวยาทางจิตใจในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน หรือ ทีมเอ็มแคท พร้อมเวชภัณฑ์ ยาด้านจิตเวช ออกปฏิบัติงาน ประชาชนจะได้รับการดูแลช่วยเหลือทั้งโรคทางกายและด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน โดยจะให้การปฐมพยาบาลทางจิตใจ ให้คำปรึกษาเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ตรวจคัดกรองประเมินความเครียด อาการซึมเศร้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ประสบภัย ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน มีผู้เสียชีวิต หากพบมีอาการรุนแรงอาจให้การรักษาที่บ้านหรือส่งตัวเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลต่อไป
“เรื่องที่น่าเป็นห่วง ในช่วงที่ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ ขอให้ผู้ปกครองระมัดระวังเด็กเล็ก อย่าให้ลงเล่นน้ำ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มพิเศษที่เป็นโรคทางจิตเวช 4 โรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ 1. โรคออทิสติก 2. โรคสมาธิสั้น หรือ โรคไฮเปอร์ 3. เด็กสติปัญญาบกพร่อง และ 4. เด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มคาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 8 แสนคน ทั้งในเขตเมืองและชนบท เด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงเกิดอันตรายจมน้ำได้สูง เนื่องจากเด็กจะมีปัญหาในการรับรู้ อ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่เข้าใจถึงภาวะเสี่ยง หรือภาวะที่เป็นอันตราย ไม่กลัวภัยอันตราย รวมทั้งเด็กบางประเภท เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะชอบท้าทายโลดโผนอยู่แล้ว จึงมีความเสี่ยงเกิดอันตรายมาก หากเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ ทั้ง 4 กลุ่มนี้จะไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ได้ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แม้กระทั่งน้ำตื้นก็ตามจึงขอให้ผู้ปกครองดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปที่ได้รับการรักษาอยู่ขณะนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง จะต้องกินยารักษาต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หากยาใกล้หมดหรือไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดได้ ขอให้แจ้ง อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือ โทร.แจ้งสายด่วน 1669 หรือ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า รพ.จิตเวชฯ ได้เตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อนเซินกา โดยเตรียมทีมเอ็มแคท ซึ่งเป็นทีมสหวิชาชีพมีแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกรไว้ 3 ทีม พร้อมเวชภัณฑ์ ยาด้านจิตเวช และ ยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นใช้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นขณะมีปัญหาน้ำท่วมขัง พร้อมออกปฏิบัติการร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยนัดซึ่งมีวันละ 80 - 100 คน หากพบว่ามีผู้ป่วยขาดนัด ไม่สามารถเดินทางไปพบจิตแพทย์ตรวจตามนัดได้ จะมีระบบการจัดยาให้ถึงพื้นที่ เพื่อป้องกันอาการกำเริบจากปัญหาขาดยา
ขอบคุณ... http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000075671 (ขนาดไฟล์: 164)
(manager.co.thออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 25 ก.ค.60)