ใช้สังคมมนุษย์บำบัด"ออทิสติก"!

ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก

ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก สร้างทักษะทางสังคมที่ดีที่สุด เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และมีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน และเรียนรู้ในการที่จะอยู่ร่วมกัน ดังนั้นการบำบัด หรือการช่วยให้บุคคลออทิสติกสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้จึงมีความจำเป็นต้องใช้ “สังคมมนุษย์ในการบำบัด” ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ทราบได้ชัดเจนว่าการให้โอกาส “เด็กออทิสติก” อยู่ร่วมกับเด็กปกติในสังคมที่หลากหลายนั้นทำให้เด็ก “ออทิสติก” คนหนึ่งมีพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น เล่น เรียน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนในสังคมได้โดยไม่ได้แปลกแยกและเป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นการใช้ “สังคมมนุษย์” บำบัดออทิสติกได้ดีที่สุดก็ว่าได้

พี่มหาลัย เข้าสอนน้องๆ ในห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก

ดร.สมพร ขันเงิน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เล่าประสบการณ์ในการจัดการศึกษาให้ลูกชายออทิสติกว่า การให้เด็กในวัยเดียวกันได้เรียนรู้ภาษาด้วยกัน เล่นด้วยกัน และอยู่ในสังคมเดียวกัน การได้เรียนร่วมกับเด็กในวัยที่ใกล้เคียงกัน คือการเปิดโอกาสและเป็นวิธีการบำบัดเด็กที่เป็นออทิสติกได้ดีที่สุด โดยพิสูจน์ทราบได้จากลูกชายของเขาทั้ง 2 คน คนโต น้อง “แฟกซ์” ที่พูดช้าแม้จะถึงวัยที่เข้าอนุบาลก็ยังพูดไม่ชัด แต่ด้วยความที่ได้เข้าเรียนอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันตั้งแต่ระดับอนุบาล ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับเพื่อนและเติบโตและมีพัฒนาไปตามวัยได้จนปัจจุบันก็เรียนรู้ได้ตามวัยแบบเด็กปกติ

ส่วนน้อง“ฟิล์ม” ลูกชายอีกคนที่ไม่พูดแม้จะถึงวัยแล้ว และเห็นชัดเจนมากขึ้นตอนอายุ 4 ขวบ ที่รับรู้ชัดเจนว่ามีพัฒนาการช้ากว่าวัยเดียวกัน ซึ่งแก้ปัญหาด้วยการพาไปฝึกพูดและสอนเอง โดยที่ไม่ได้เรียนอนุบาลกับเด็กปกติในวัยเดียวกันกับเพื่อนๆ ทำให้เด็กไม่ได้มีพัฒนาการและประสบการณ์ การเล่น การใช้ภาษา พูด ภาษากาย และอื่นๆ ตามประสาเด็กๆ ทำให้น้องฟิล์มไม่มีพัฒนาการทางการพูด ปัจจุบันน้องฟิล์มอายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนขอนแก่นคริสเตียน และเป็นเด็กออทิสติกที่มีปัญหาในการสื่อสารทางภาษา

“ก่อนหน้านี้ช่วงป. 1.-ป.6 น้องฟิล์มเรียนอยู่ที่ห้องเรียนคู่ขนาน ที่การศึกษาพิเศษขอนแก่นเขต 9 ได้จัดให้ที่โรงเรียนบ้านโนนม่วง แต่เป็นการเรียนในห้องเรียนคู่ขนานจริงๆ โดยไม่มีโอกาสเข้าไปเรียนร่วมกับเพื่อนในวัยเดียวกันเลย เพราะครูเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าเรียนร่วม และอีกอย่างบุคลากร ที่จะไปประกบตอนเข้าเรียนร่วมก็มีไม่เพียงพอ และพอจบป.6 ก็ไม่สามารถหาโรงเรียนเรียนต่อ ม.1 ได้ จึงต้องไปทำงานกับพ่อทุกวันเป็นเวลา 1 ปี จนได้รู้ว่ามีโรงเรียนขอนแก่นคริสเตียนรับเด็กพิเศษเรียนร่วม จึงพาลูกไปเรียน ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนให้โอกาสเด็กพิเศษมาก ทำให้มีโอกาสได้ร่วมมือกับเพื่อนผู้ปกครองจัดทำห้องเรียนคู่ขนานออทิสติกขึ้นมารองรับเด็กพิเศษทั้งระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากที่โรงเรียนให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้” ดร.สมพร กล่าว

ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติกนี้เป็น 1 ใน 4 กลไกหลักตามออทิสติกโรดแม็พ ของเครือข่ายผู้ปกครองออทิสติกที่เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการทำโครงการนำร่องจัดตั้งและพัฒนาห้องเรียน 2 รูปแบบ อันได้แก่ “ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก” และ “ห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษ” ในโรงเรียนเด็กปกติทั่วไปในชุมชน ในสังกัดหรือในกำกับดูแล ในขอบเขตทั่วประเทศซึ่งเสนอไปพร้อมกับการให้กระทรวงสาธารณสุข ทำโครงการนำร่องจัดตั้ง “แผนกพิเศษออทิสติก” ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลอำเภอ ในขอบเขตทั่วประเทศ

รวมทั้งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำโครงการนำร่องจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกจังหวัด ที่มีฝ่ายบ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชนจังหวัด อยู่ในโครงสร้างของศูนย์ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด และให้กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลต่างๆ จัดตั้ง “บ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชน” ในเขตเทศบาล หรือเขตพื้นที่ของตนหากมีบุคคลออทิสติกวัยรุ่นวัยผู้ใหญ่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

น้องๆที่มีภาวะ ออทิสติก

นอกจากนี้ ยังขอ “งบประมาณกลาง” ของรัฐบาลประมาณ 600-1,000 ล้านบาท ให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดตั้ง “สถาบันวิจัยออทิสซึ่มในชุมชนเมืองมหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านออทิสติกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อวิทยาการด้านออทิสติกและด้านสมองกับทั่วโลก

ดร.สมพร อธิบายว่า ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติกแห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้ปกครองที่มีลูกออทิสติกในโรงเรียนแห่งนี้ช่วยกันลงขันงบประมาณจัดทำขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากทางโรงเรียนจัดครูการศึกษาพิเศษมาสอนนักเรียนกลุ่มนี้ โดยจัดตารางเรียนดูแลทั้งระดับอนุบาล ประถม และมัธยมศึกษา ซึ่งปกตินักเรียนก็จะเรียนร่วมกับเด็กปกติ แต่โรงเรียนจะจัดตารางเรียนให้แก่เด็กออทิสติก และการประเมินที่แตกต่างกันออกไป

“น้องฟิล์มที่เป็นเด็กออทิสติกก็จะได้รับการดูแลตามโปรแกรมของเขา วิชาที่เรียนร่วมก็เรียนร่วมกับเพื่อนไป ถึงตารางที่ต้องไปห้องเรียนคู่ขนานก็ไปตามตาราง ดูแล้วชีวิตของลูกก็มีความสุขตามวัยของเขา เรียน เล่นกีฬา และอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียนได้ ทำกิจกรรมรวมกลุ่มได้ แม้จะสื่อสารทางภาษาพูดไม่ได้ก็ตาม แต่ครูจะมีวิธีสอนที่สื่อสารให้เข้าใจและอยู่ร่วมกันได้ จากนั้นเมื่อกลับมาบ้านพ่อแม่ก็จะดูแลเด็กเหล่านี้ต่อ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีห้องเรียนคู่ขนานแบบนี้ในโรงเรียนปกติทั่วไป เพื่อทำความเข้าใจให้ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง และเพื่อนร่วมชั้น เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้และอยู่ร่วมกันไปได้อย่างสมดุลตามวัยและศักยภาพของเด็กแต่ละคนทั้งออทิสติกและเด็กปกติ” ดร.สมพรกล่าว

สุภลักษณ์ สีตะวัน รองผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นคริสเตียนครูที่ดูแลเด็กออทิสติก เล่าว่า ห้องเรียนคู่ขนานจะมีกิจกรรมส่งเสริมทักษะตามวัยให้เด็กทั้งกลุ่ม อนุบาลช่วงเช้า และประถม มัธยมตอนบ่าย ซึ่งน้องฟิล์มสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ครูมอบหมายได้ และมีทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ และโรงเรียนได้ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจของนักเรียนทุกกลุ่ม เช่น กิจกรรมวาดภาพ การแข่งขันเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ ล่าสุดไปอบรมการเขียนโปแกรมหุ่นยนต์ขนาดเล็กส่งแข่งขันปรากฏว่ากลุ่มของน้องฟิล์มได้ที่ 1 จะว่าไปแล้วห้องเรียนคือทักษะทางสังคมที่ดีที่สุดของเด็ก “ออทิสติก” นั่นเอง

ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/edu-health/295555 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: คมชัดลึกออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 14 ก.ย.60
วันที่โพสต์: 15/09/2560 เวลา 11:04:02 ดูภาพสไลด์โชว์ ใช้สังคมมนุษย์บำบัด"ออทิสติก"!