พบข้อมูล 2 ปีพ่อแม่เด็กออทิสติกนับหมื่นคน ขอรักษาภาวะเครียดสะสม
เป็นปัญหาสะสมซ้อนทับอยู่ในครอบครัวเด็กออทิสติก โดยเฉพาะกับพ่อแม่เด็ก กรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า เฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา มีพ่อแม่เด็กออทิสติกขอเข้ารับการรักษากว่า 1 หมื่นคน
ทีมข่าวพีพีทีวี ได้สอบถาม นางนภัทร พุกกะณะสุต ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลสมาธิสั้นแห่งประเทศไทย ที่อธิบายให้ทีมข่าวฟังว่าเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองในการเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กพิเศษ เธอให้ข้อมูลว่านี่เป็นหลักการคิดที่ทำให้เธอไม่ตกอยู่ในภาวะความเครียดเหมือนผู้ปกครองคนอื่นๆ
จากข้อมูลของสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2559 ถึง ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2560 มีครอบครัวของเด็กที่ป่วยเป็นออทิสติกกว่า 23,000 คน เข้ารับการรักษากับสถาบันฯ และจากข้อมูลพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ผู้ปกครองเด็กกลุ่มนี้มีภาวะความเครียดสะสม
ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ตามปกติภาวะความเครียดของผู้ปกครองเด็กพิเศษ เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ ความเครียดจากปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาการเงิน ปัญหาที่ทำงาน หรือ ปัญหาระหว่างพ่อกับแม่ กับความเครียดที่เกิดจากตัวเด็ก ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วง 3-6 เดือนแรกที่ผู้ปกครองรู้ว่าลูกป่วย
โดยสิ่งที่พ่อแม่มักตั้งคำถามกับแพทย์คือลูกจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรหากพ่อและแม่ไม่อยู่ หรือ ลูกจะหายจากอาการป่วยหรือไม่ แม้ความเครียดลักษณะนี้จะหายไปได้ เมื่อพ่อและแม่เริ่มทำใจได้ แต่เมื่อความเครียดในแบบแรกเพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ความเครียดเรื่องลูกกลับมามีอิทธิพลได้อีก
สำหรับแนวทางการแก้ไข ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล แนะนำ หากพบว่าความเครียดเกิดจากลูก ผู้ปกครองควรถอยห่างจากลูกเพื่อไม่ให้ความเครียดถูกถ่ายทอดไปยังลูก และควรสับเปลี่ยนผู้ดูแลเด็กพิเศษเพื่อให้มีเวลาผ่อนคลายมากขึ้น เพราะการอยู่กับเด็กพิเศษ โดยเฉพาะเด็กออทิสติก มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเครียดมากขึ้น