กก.ปฏิรูปสังคม เปิดแนวคิด “ปฏิรูปผู้เสียเปรียบในสังคม” ฝันเพิ่มกองทุน “คนพิการ/ผู้สูงอายุ/วัยเกษียณ”
กก.ปฏิรูปสังคม เปิดแนวคิด “ปฏิรูปผู้เสียเปรียบในสังคม” เตรียมรับฟังความเห็นตลอดเดือน พ.ย.นี้ทั่วประเทศ ชูปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะเพื่อผู้เสียเปรียบ-เพิ่มกองทุน “คนพิการ/ผู้สูงอาย/วัยเกษียณ” -ปรับกลไก “ผู้บริโภค 4.0” - ปฏิรูปการให้สัญชาติไทยแก่ผู้ไร้สถานะ หวัง“ปลดล็อค” อุปสรรค ที่ทำให้คนบางกลุ่มสังคมกลายเป็นผู้เสียเปรียบ
วันนี้( 8 พ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่มี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ได้เปิดเผยผลการประชุมกว่า 9 ครั้ง และประชุมย่อยกว่า 7 ครั้ง ก่อนสรุปแนวคิดปฏิรูป “ผู้เสียเปรียบในสังคม” โดยได้ให้คำนิยามครอบคลุมกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้บริโภค และคนไร้สัญชาติ
นายวิเชียร ชวลิต กรรมการชุดนี้ กล่าวขยายความถึง “ผู้เสียเปรียบในสังคม” โดยหวัง“ปลดล็อค” อุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้คนบางกลุ่มสังคมกลายเป็นผู้เสียเปรียบ หลังได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ โดยประเด็นเร่งด่วนที่ควรดำเนินการ ประกอบด้วย
(1) “ปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะ” เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อคนทุกกลุ่ม โดยเร่งปฏิรูปในระบบขนส่งสาธารณะทางรางเป็นอันดับแรก และจะขยายผลไปยังบริการสาธารณะของรัฐประเภทอื่น ตลอดจนการปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานที่ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับอารยสถาปัตย์ (universal design) เพื่อให้มีการบูรณาการระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
(2) การปฏิรูปในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ประกอบด้วย การปฏิรูปกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยปรับให้มีแนวทางการนำเงินจากกองทุนมาใช้พัฒนาผู้พิการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนให้มากขึ้น การเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุในการทำงาน (empowerment) ผ่านการอบรมทักษะอาชีพที่จำเป็นแก่ผู้สูงอายุ และการขยายอายุเกษียณในกลุ่มบุคลากรภาครัฐแบบค่อยเป็นค่อยไป
“การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นการสร้างความรู้ให้แก่ผู้บริโภค และปรับกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เป็นผู้บริโภค 4.0 และ การปฏิรูปแนวทางการให้สัญชาติไทยแก่ผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร โดยพัฒนาระบบการจดทะเบียนผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรในกลุ่มที่ต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการ คนยากจน เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูประบบผู้เสียเปรียบในสังคมจะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายต่อไปในอนาคต เช่น กลุ่มสตรี คนไร้ที่พึ่ง ผู้พ้นโทษ และผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ภายใต้แนวคิดการดำเนินงาน ที่มุ่งเน้นให้ผู้เสียเปรียบในสังคมทุกกลุ่มได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งในอนาคตจะได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านอื่น ๆ เพื่อบูรณาการการทำงานในประเด็นปฏิรูปที่มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนระหว่างกัน
นายวิเชียรฯ กล่าวว่า คนทุกคนล้วนแล้วแต่ตกเป็นกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดในการใช้ชีวิต จึงจำเป็นต้องเร่งจัดทำแผนการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการผนวกแผนการปฏิรูปของกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคมเข้ากับกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำแผนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมไปรับฟัง ความคิดเห็นจากสาธารณชนกลุ่มต่าง ๆ ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้
มีรายงานว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ได้ตั้งประเด็นงานปฏิรูปด้านสังคมออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ (1) การออม สวัสดิการ และการลงทุน เพื่อสังคม (2) กลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม (3) การจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านสังคม (4) ระบบสร้างเสริมชุมชนเข้มแช็ง และ (5) การมีส่วนร่วม การเรียนรู้ การรับรู้ และการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม.
ขอบคุณ... https://mgronline.com/politics/detail/9600000113086