เนรมิตเสื้อผ้าผู้พิการ มูลนิธิเวชดุสิตฯร่วมแบรนด์ดัง
การใส่เสื้อผ้าที่ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับผู้พิการแล้ว นับเป็นอุปสรรคอย่างมากที่พวกเขาต้องเจอทุกวัน เพราะที่ผ่านมาถึงตอนนี้แทบจะไม่มีใครผลิตเสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา จึงทำให้ต้องทนใส่เสื้อผ้าที่อาจดูไม่สวยงาม แต่เน้นเพียงสวมใส่ได้ง่ายเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งก่อตั้งโดยเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดสังคมแห่งความเท่าเทียมและมีส่วนร่วม รวมไปถึงการสร้างโอกาสทางสังคมอย่างจริงจังให้กับผู้พิการมาโดยตลอด ในการสานต่อโครงการความฝันไม่มีวันพิการ (Unlimited Dreams) ปีที่ 3 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ร่วม-ลงมือ-ทำ” โดยร่วมมือกับแบรนด์ดีไซเนอร์ชั้นนำ ในการสร้างทักษะอาชีพด้านแฟชั่น Adaptive Clothing (เสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย) ให้แก่เยาวชนผู้พิการ ทั้งยังมอบ Adaptive Clothing ให้กลุ่มผู้พิการทางร่างกายและผู้ป่วยยากไร้ทั่วประเทศกว่า 5,000 ตัวด้วย
“รศ.อัจจิมา เศรษฐบุตร” กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเวชดุสิตฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 33 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเวชดุสิตฯ มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมไปถึงการสนับสนุนความฝันของเยาวชนผู้พิการให้เป็นจริง ผ่านโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ จากนั้นเริ่มจัดทำโครงการความฝันไม่มีวันพิการในปี 2558
“โดยในปีแรกของโครงการความฝันไม่มีวันพิการ เราทำการสื่อสารผ่านภาพยนตร์สั้น รวมไปถึงจัดงาน All Access Fest ที่เปรียบเสมือนเวทีให้เยาวชนพิการมีโอกาสแสดงศักยภาพทางศิลปะและดนตรี ส่วนปีถัดมาเราทำโครงการในคอนเซ็ปต์ The Heroes สร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ผู้พิการผ่านบุคคลต้นแบบ เพราะเราเชื่อมั่นว่าคนตัวเล็ก ๆ สามารถทำสิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่ได้ ขอเพียงเขากล้าฝันและมุ่งมั่นเดินทางไปสู่เป้าหมาย”
“ปีที่แล้วเราจัดทำการสำรวจอาชีพที่น่าสนใจสำหรับผู้พิการ โดยเก็บข้อมูลจากผู้พิการโดยตรง รวมถึงจากประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊ก Vejdusit Foundation จากผลสำรวจพบว่าอาชีพที่น้อง ๆ ผู้พิการใฝ่ฝันอยากทำในกลุ่มอาชีพสร้างสรรค์คือแฟชั่นและดนตรี กว่า 44.95% ดังนั้น มูลนิธิเวชดุสิตฯ จึงเกิดความคิดที่จะส่งเสริมทักษะการผลิตเสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย เพราะเป็นสิ่งที่ขาดแคลน”
โดยจุดเด่นของ Adaptive Clothing คือการปรับรูปแบบการตัดเย็บและส่วนประกอบของเสื้อผ้า ให้ผู้พิการสามารถสวมใส่และถอดเสื้อผ้าได้ง่าย เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ รวมถึงทลายข้อจำกัดในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจ และเปิดโอกาสที่เท่าเทียมในสังคมให้กับผู้พิการ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาปรับใช้กับกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวอีกด้วย
เพราะส่วนใหญ่ Adaptive Clothing มีการออกแบบที่ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถสวมใส่ได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น หรือพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด อย่างเช่น การใช้ตีนตุ๊กแกแทนกระดุม การใช้รังดุมที่ใหญ่ขึ้นเพื่อทำให้การติดกระดุมนั้นง่ายขึ้น การทำคอเสื้อให้กว้าง หรือเปิดจากด้านหน้า เพื่อการสวมใส่ที่สะดวก หรือการปรับแก้ทรงเสื้อผ้าให้เข้ากับสรีระของผู้พิการ เพื่อชูจุดเด่น และกลบจุดด้อยของพวกเขา
“รศ.อัจจิมา” อธิบายถึงความร่วมมือกับกลุ่มดีไซเนอร์ชั้นนำของไทยต่อว่า เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของไทยอย่าง Sretsis, Patinya, และ Greyhound Original ได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการของเรา ก็อยากมาร่วมลงมือทำด้วย เพราะเล็งเห็นปัญหาที่ผู้พิการต้องประสบในการสวมใส่และถอดเสื้อผ้า ในการดำเนินชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน เนื่องจากเสื้อผ้าที่มีอยู่ทั่วไปไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับผู้ที่มีสรีระที่แตกต่าง และไม่สะดวกในการเคลื่อนไหว และอยากใช้ทักษะด้านเสื้อผ้ามาช่วยเหลือสังคม
“โดยแบรนด์ Sretsis ให้ความร่วมมือในการสอนงานด้านการออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้พิการกว่า 60 คน ร่วมกับดีไซเนอร์และทีมงานที่เกี่ยวข้องในบรรยากาศการทำงานจริง เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนผู้พิการในการทำงานที่ตนใฝ่ฝันในอนาคต ขณะที่แบรนด์ Patinya ทำการออกแบบและผลิตชุดต้นแบบ จากการหาข้อมูลเชิงลึกกับกลุ่มเยาวชนผู้พิการทางร่างกาย และแลกเปลี่ยนความรู้ในการออกแบบ และการใช้งานจริงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ”
“นอกจากนี้ยังร่วมให้ความรู้ในการเสริมทักษะด้านการออกแบบแฟชั่นให้กับกลุ่มผู้พิการที่มีทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อต่อยอดและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ผู้พิการต่อไป ขณะที่แบรนด์ Greyhound Original ทำการผลิตสินค้า Limited Edition ที่น้องผู้พิการมีส่วนร่วมในการออกแบบ โดยรายได้จากการจำหน่ายหลังหักค่าใช้จ่ายในการผลิต จะมอบให้มูลนิธิเวชดุสิตฯ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการทั่วประเทศต่อไป” จึงนับว่านอกจากจะเป็นการช่วยสร้างทักษะอาชีพด้านแฟชั่นให้ผู้พิการ ยังช่วยให้กลุ่มผู้พิการมีความสุขกับการสวมใส่เสื้อผ้าและเสริมสร้างความมั่นใจให้พวกเขาต่อไปอีกด้วย
ขอบคุณ... https://www.prachachat.net/breaking-news/news-37698