“กลุ่มผู้พิการ” ร้อง “กสม.”ถูกสายการบิน”นกแอร์” เลือกปฏิบัติ-ละเมิดสิทธิ! ไม่ให้ขึ้นเครื่อง
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และเลขาธิการองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (DPIAP) และนายศุภวัฒน์ เสมอภาค เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการต่างประเทศ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยนายศุภวัฒน์ และสมาชิกภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนต้องขึ้นได้ (T4A) ได้เดินทางโดยสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD8312 ออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เวลา 12.40 น. โดยซื้อและออกเป็นตั๋วเดินทางกลุ่ม 8 คน มีคนพิการ 2 คน คือ ตนและนายศุภวัฒน์ และอีก 6 คนเป็นคนไม่พิการ เพื่อต่อเครื่องไป จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากตนและนายศุภวัฒน์เป็นวิทยากรอบรมการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ส่วนบุคคลที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค.ที่ผ่านมา
น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าวต่อว่า ช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. ขณะกำลังเช็คอินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง พนักงานของสายการบินดังกล่าว เดินมาสอบถามตนด้วยภาษากายที่ไม่แสดงความเป็นมิตรว่า “ผู้โดยสารเดินได้หรือไม่ เพราะสายการบินดังกล่าวมีนโยบายไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารที่นั่งรถเข็นและเดินไม่ได้ เดินทางคนเดียว” ซึ่งตนตอบว่าเดินทาง 8 คน จากนั้นพนักงานจึงแจ้งว่าจะออกตั๋วพร้อมโหลดกระเป๋าให้
น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า แต่พนักงานคนเดิมก็ถามต่อว่าทั้ง 6 คนเป็นญาติกันหรือไม่ และสามารถช่วยอุ้มได้หรือไม่ ตนจึงตอบว่าไม่แน่ใจ แต่ถ้าจะเป็นต้องยกพวกเขาก็คงยินดี จากนั้น พนักงานก็สั่งให้ตนและนายศุภวัฒน์รอคุยกับกัปตันซึ่งไม่รู้เวลาที่แน่นอน ตนจึงแจ้งว่าขอเข้าไปคุยที่ทางออกประตูเครื่อง เพราะต้องเข้าไปทำกินข้าวและเข้าห้องน้ำ โดยพนักงานดังกล่าวกลับไม่สนใจ ไม่นานนักพนักงานชายอีกคนเดินมาบอกให้ตนรอคุยกับกัปตันก่อน แต่เราปฏิเสธและระบุว่าต้องการคุยที่ทางออกขึ้นเครื่องเท่านั้น
“ท้ายที่สุดกัปตันไม่ให้ขึ้นเครื่อง พนักงานนกแอร์ที่ประจำประตูทางออกขึ้นเครื่องเข้ามาสอบถามเราว่าทำงานอะไร กระทรวงไหน มีตำแหน่งอะไร ก่อนที่พนักงานของสายการบินจะพาไปรับกระเป๋าที่ชั้น 1 ขาออก และทำเรื่องขอเงินค่าตั๋วคืน โดยพนักงานเอาแบบฟอร์มรีฟันด์มาให้ลงลายมือชื่อ โดยเราเข้าใจว่ารีฟันด์เฉพาะเที่ยวบินดอนเมืองไปเชียงใหม่เท่านั้น แต่มาทราบภายหลังว่าทางสายการบินดังกล่าว ยกเลิกและรีฟันด์ตั๋วขากลับด้วยโดยไม่แจ้งล่วงหน้า” น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าว
น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าวว่า เราจำเป็นต้องซื้อตั๋วของสายการบินอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขายินดีให้บริการ แต่ที่น่าแปลกคือ ทำไมเจ้าหน้าที่ของสายการบินนกแอร์กลับไปถามเจ้าหน้าที่สายการบินที่ยินดีให้บริการเราว่าทำไมถึงอนุญาตให้เดินทางได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสายการบินที่เราเลือกใช้บริการอีกแห่งนั้น ได้ตอบกลับเจ้าหน้าที่ที่เรามีปัญหาไปว่า ทางสายการบินมีรถไฮลิฟต์กับเคบินวีลแชร์ให้บริการ
น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ตนเดินทางไปถึง จ.เชียงใหม่ล่าช้า และจำเป็นต้องพักค้างคืนที่ จ.เชียงใหม่ เพราะไม่สามารถต่อเครื่องไป จ.แม่ฮ่องสอนได้ อีกทั้ง ยังต้องเปลี่ยนเที่ยวบินไป จ.แม่ฮ่องสอนและยกเลิกเป็นวิทยากรในวันนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนพร้อมคณะจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยเข้าเช็คอินที่สายการบินนกแอร์ ก่อนพบว่าตั๋วขากลับเชียงใหม่-กรุงเทพฯถูกยกเลิกและทำรีฟันด์ไปแล้ว แต่ตั๋วเดินทางของนายศุภวัฒน์กับผู้ช่วยยังใช้ได้
ขณะที่กำลังเจรจากับพนักงานที่เคาน์เตอร์เช็กอิน เจ้าหน้าที่ชายของสายการบินนกแอร์บอกว่า “ผมได้รับรายงานเรื่องของคุณจากกรุงเทพฯแล้ว” พร้อมกับใบหน้าที่ไม่เป็นมิตรและไม่รับฟังผู้โดยสารอธิบาย ซึ่งตนได้ยกตัวอย่างของสายการบินอื่นที่เราเดินทางจากจ.แม่ฮ่องสอนมาเชียงใหม่ แม้จะเป็นเครื่องบิน ART 72-600 มี 2 ใบพัดและมีที่นั่งผู้โดยสารเพียง 72 ที่นั่ง แต่ก็ยังยินดีต้อนรับให้บริการผู้โดยสารพิการและให้บริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดตามหลักสากล
น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ชายดังกล่าว ขอดูตั๋วของสายการบินดังกล่าว เมื่อตนถามว่าเอาไปทำไม เขาก็แสดงความไม่พอใจและบอกว่าต้องการเอาไปสอบถามกับพนักงานสายการบินนั้นเรื่องการอนุญาตให้เดินทาง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสาร ต่อมานายศุภวัฒน์และผู้ช่วยต้องการจะยกเลิกการเดินทางและทำรีฟันด์ แต่สายการบินนกแอร์กลับไม่ยอม แจ้งว่าถ้าไม่เดินทางก็จะไม่คืนเงิน ขณะเดียวกันก็ไม่ออกตั๋วเดินทางให้ อ้างว่าต้องรอคำตอบจากทางดอนเมืองว่าอนุญาตให้เดินทางได้หรือไม่ รวมทั้งต้องตรวจสอบก่อนว่าเครื่องบินจะเข้าจอดที่หลุมจอดหรือไม่ จะขอให้คำตอบเวลา 14.00 น. ก่อนเครื่องออกเพียง 45 นาที กระทั่งได้เดินทางกลับกับสายการบินดังกล่าว
“ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก การเดินทางขากลับมีเคบินวีลแชร์ให้บริการ แถมยังมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกก่อนขึ้นเครื่อง หลังจากเดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ก็สามารถรับรถเข็นตัวเองได้ที่หน้าประตูเครื่องบิน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าสายการบินดังกล่าวสามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารพิการได้ตามมาตรฐานของสายการบินทั่วไป แต่เลือกที่จะไม่ยอมให้บริการเช่นนี้ตามที่เป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ บ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ การกระทำทั้งหมดนี้ถือว่าสายการบินนี้กระทำการละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารด้วยเหตุแห่งความพิการตามคำนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซ้ำยังละเลยต่อการดำเนินตามนโยบายของ ICAO โดยการแสดงให้เห็นถึงอคติ การเหมารวม และการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งขัดกับหลักการอนุสัญญาฯ และพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550
ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_563598