เด็กพิการเรียนไหนดี'67 ด่านแรกปั้นอนาคต สร้างโอกาสเยาวชนผู้พิการ

เด็กพิการเรียนไหนดี'67 ด่านแรกปั้นอนาคต สร้างโอกาสเยาวชนผู้พิการ

สานพลังสร้างโอกาสให้เยาวชนผู้พิการ กับงาน "เด็กพิการเรียนไหนดี'67" มหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาสำหรับเด็กพิการจากทั่วประเทศ ปีที่ 5

จบไปแล้วกับงานมหกรรมที่น้องๆ ผู้พิการต่างรอคอยด้วยความหวัง กับ "เด็กพิการเรียนไหนดี'67" มหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาสำหรับเด็กพิการจากทั่วประเทศ ปีที่ 5 จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม และบริษัท กล่องดินสอ จำกัด

สำหรับงานในครั้งนี้ ถือเป็นประตูด่านแรกสู่การค้นหาจุดหมายปลายทาง การวางแผนการศึกษา การมองหาสถาบันที่รองรับสำหรับ ผู้พิการ รวมถึงเพิ่มพลังใจจากรุ่นพี่นักศึกษาผู้พิการ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์การเข้ารั้วมหาวิทยาลัยให้รุ่นน้องได้รับฟังกัน

วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนพิการประมาณ 4,000 คน ในโรงเรียนสังกัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ผ่านมา เด็กพิการ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งความยากจน ปัญหาการเดินทางสาธารณะ สถานศึกษา บุคลากรไม่พร้อมรองรับ ทำให้เด็กและเยาวชนที่พิการจำนวนไม่น้อย ต้องหยุดเรียนและหลุดออกจากระบบการศึกษา เมื่อความรู้มีจำกัด ทำให้ทางเลือกในอาชีพก็มีจำกัด ส่งผลต่อรายได้ ทำให้เด็กพิการหลายคนรู้สึกไม่ภาคภูมิใจ เพราะเขาไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

เด็กพิการเรียนไหนดี'67 ด่านแรกปั้นอนาคต สร้างโอกาสเยาวชนผู้พิการ

"ปัจจุบัน กทม. ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการจ้างงาน ผู้พิการ ปัจจุบันมีผู้พิการที่ปฏิบัติงานในสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต กว่า 300 คน โดยตั้งเป้าให้ถึง 600-800 คน ในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า พร้อมพัฒนาระบบทำงาน พัฒนาเมืองตามหลักการออกแบบสำหรับทุกคน (Universal Design) โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ขึ้น"

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ให้การสนับสนุนภาคีเครือข่าย ภายใต้โครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรียนรู้ของ เด็กพิการ โดยเน้นสร้างองค์ความรู้ ออกแบบห้องเรียนที่นักเรียน/นักศึกษาพิการและไม่พิการได้เรียนร่วมกัน พร้อมขยายผลสถาบันการศึกษาต่างๆ ฝึกอบรมทักษะ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมาของการขับเคลื่อน ได้สร้างโอกาสงานกว่า 50,000 โอกาสงาน อีกทั้งการสนับสนุนนวัตกรรมการจ้างงานผู้พิการเชิงสังคม ภายใต้มาตรา 33 และมาตรา 35 ให้ผู้พิการมีอาชีพ

"สำหรับเป้าหมายของการจัดมหกรรมฯ เด็กพิการเรียนไหนดี เป็นสร้างโอกาสทางการศึกษา หลังพบผู้พิการเป็นกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ทั้งพบผู้พิการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเพียง 1% เท่านั้น โดย สสส. จะมีโครงการเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลการศึกษาสำหรับเด็กพิการ และอนาคตมีการวางแผนใช้ระบบ Heart2Heart คือ platform ให้ผู้พิการที่ทำงานในเขตของ กทม. เป็น Chat Agent ตอบคำถามบริการกับประชาชนผ่านทางระบบ Chat ต่อไป"

เด็กพิการเรียนไหนดี'67 ด่านแรกปั้นอนาคต สร้างโอกาสเยาวชนผู้พิการ

สำหรับไฮไลต์ของงานมหกรรมฯ ในปีนี้ มีกิจกรรม Workshop "ปั้นพอร์ต" แนะแนวแฟ้มสะสมผลงานนำเสนอมหาวิทยาลัย รวมถึงเทคนิค "ปั้นคำ" การสอบสัมภาษณ์ และบุคลิกภาพ โดยรุ่นพี่นักศึกษาพิการที่มีประสบการณ์ พร้อมบูธสถาบันการศึกษา เพื่อตอบข้อสงสัยให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยมีองค์กร โรงเรียน และมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกว่า 90 แห่ง

ลัทธโชติ ไชยสวัสดิ์ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโสตศึกษา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะเชื่อว่า เด็กพิการ ทุกคนอยากเรียนสูงๆ ในวิชาที่ชอบ ทำอาชีพที่ใช่ เพื่ออนาคตที่ดี ดูแลตัวเองได้ งานวันนี้ทำให้รู้ว่า เด็กพิการก็มีสิทธิ์มองหาโอกาสที่หลากหลาย เพราะมีหน่วยงาน องค์กร สถาบัน พร้อมขับเคลื่อนเปิดโอกาสให้เด็กพิการสร้างพื้นที่แห่งความหวัง ให้มีความอุ่นใจและมีคนให้คำแนะนำได้

"ปัญหาเรื่องการศึกษาของเด็กพิการ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ทั้งนโยบายภาครัฐ และการร่วมมือภาคเอกชน หวังว่าเพื่อนๆ ทุกคนจะได้พบคำตอบที่กำลังมองหาจากงานมหกรรมฯ ในครั้งนี้"

ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/lifestyle/judprakai/1098754

ที่มา: bangkokbiznews.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 พ.ย. 66
วันที่โพสต์: 15/11/2566 เวลา 14:31:16 ดูภาพสไลด์โชว์ เด็กพิการเรียนไหนดี'67 ด่านแรกปั้นอนาคต สร้างโอกาสเยาวชนผู้พิการ