การเข้าถึงโอกาสการเรียนอาชีวะของเด็กพิการ
การให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กมีความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือ เด็กที่มีความพิการ เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่สถานศึกษาต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างคนปกติ
การให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กมีความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือ เด็กที่มีความพิการ เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่สถานศึกษาต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างคนปกติ และเพื่อให้การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาพิการ หรือ DSS เป็นหน่วยจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการใน 5 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล วิทยาลัยเทคนิคบางแสน วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์
นายพรอนันต์ ภักดีบุญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล กล่าวว่า วิทยาลัยเริ่มจัดการศึกษาประเภทอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมให้แก่เด็กปกติทั่วไปตั้งแต่ปี 2540 กระทั่งปี 2556 พบว่า มีนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยิน 7 คน และปี 2557 สอศ.ได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเพิ่มขึ้น ทางวิทยาลัยก็ปรับมาเป็นระบบทวิภาคี 100% ซึ่งเอื้อให้ผู้เรียนมีโอกาสมีเงินเดือน มีรายได้ และมีงานทำ เพราะมาตรฐานระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีกำหนดว่า เด็กต้องเรียนในสถานศึกษาครึ่งหนึ่งและออกไปฝึกงานกับสถานประกอบการอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการรอบ ๆ วิทยาลัยในการรับเด็กไปฝึกงาน จากนั้นชื่อเสียงของวิทยาลัยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือเด็กหูหนวก ว่า มาเรียนที่นี่แล้วมีงานทำ มีเงินเดือน มีรายได้ เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง ทำให้วันนี้มีเด็กจากทั่วประเทศเข้ามาเรียนที่นี่เพิ่มขึ้น โดยตอนนี้มี 54 คนในทุกชั้นปี
“เราจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ให้เด็กเข้าถึงการเรียนเหมือนกันทั้งเด็กปกติและเด็กพิการ โดยมีการสื่ออุปกรณ์เพื่อรองรับให้เด็กได้เข้าถึงเหมือนกัน และมีศูนย์ DSS คอยให้บริการสนับสนุนเด็กพิการด้วย เพราะถ้าพูดถึงการให้โอกาสเด็กพิเศษหรือเด็กพิการเข้าถึงการเรียนอาชีวศึกษา คิดว่าวันนี้โอกาสเปิดมากขึ้น เพราะมีทั้งนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของ สอศ.ที่ชัดเจนว่าให้ทุกสถานศึกษาให้โอกาสเด็กพิการ ทางวิทยาลัยจึงเลือกจัดทวิภาคี 100% เพราะเห็นว่าเป็นการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพให้เด็กกลุ่มนี้ โดยมีครูที่จบด้านการศึกษาพิเศษมาเป็นล่ามให้ และยังได้เครือข่ายทางวิชาการมาช่วยโดยได้อาจารย์จากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านคนหูหนวกมาช่วยพัฒนาคำศัพท์ อบรมพัฒนาภาษามือให้ครูและเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัย ให้สามารถสื่อสารกับเด็กได้ ถือเป็นโอกาสที่เราหยิบยื่นให้แก่คนพิการ นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณสถานประกอบการในการรับเด็กเหล่านี้เข้าไปทำงาน
วันนี้ต้องใช้คำว่าให้โอกาสมากกว่าคำว่าสงสาร เพราะถ้าเรายังมองแต่คำว่าสงสาร เด็กเหล่านี้จะไม่ได้โอกาส ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิตแบบคนปกติ เมื่อเราให้โอกาสวันหนึ่งเราจะได้เห็นว่าเด็กเหล่านี้มีศักยภาพสูง เห็นได้จากเด็กที่ไปฝึกงาน ที่มีความรับผิดชอบ ขยัน และอดทน ซึ่งเป็นสิ่งที่สถานประกอบการต้องการ เพราะเรื่องทักษะเขาฝึกกันได้ อีกทั้งวันนี้ยังไม่มีสถานศึกษาที่จะทำหน้าที่เตรียมคนเพื่อเข้าสู่สถานประกอบการอย่างจริงจังเลย ผมคิดว่าอาชีวศึกษาเหมาะแล้วที่จะช่วยเตรียมคนพิการไปทำงานให้สถานประกอบการ เพราะเรามีหลักสูตรทั้งในระบบ หลักสูตรทวิภาคี และหลักสูตรระยะสั้น ที่จะทำได้และช่วยให้คนพิการมีที่ยืนในสังคมสามารถใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกับคนปกติได้”ผอ.พรอนันต์กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการ อย่าง น.ส.วรินทร์ ภัทรเมธากุล ผู้บริหาร บริษัท ภัทรเมธากิจ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายชัดเจนในการรับนักศึกษาจากทั่วประเทศเข้ามาฝึกงานกับบริษัทในเครือ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานในอนาคต โดยปกติจะรับเด็กฝึกงานปีละประมาณ 50 คน ซึ่งจะมีนักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลเข้าไปฝึกงานทุกปี และเนื่องจากวิทยาลัยนี้มีนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินอยู่ด้วย ทางบริษัทก็ได้ทดลองรับเด็กกลุ่มนี้มาฝึกงานกับบริษทในเครือ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินหล่านี้ มีความแตกต่างจากเด็กปกติ แต่ต้องมองในระยะยาว เพราะช่วงเริ่มต้นเด็กปกติอาจจะใช้เวลาไม่นานก็รู้เรื่อง ขณะที่เด็กพิการต้องใช้เวลามากกว่า 2-3 เท่า แต่เมื่อถึงเวลาที่ความสามารถใกล้เคียงกันแล้ว จะพบว่าเด็กพิการจะมีสมาธิ มีความตั้งใจ มีความอดทนและมีวินัย มากกว่า ส่วนเรื่องเกเรตามประสาวัยรุ่นที่ผู้ประกอบการมักเป็นกังวลเด็กอาชีวะเกเรนั้น จากประสบการณ์ขอบอกว่าเด็กพิการและเด็กที่มาจากวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลจะไม่ค่อยมีพฤติกรรมนี้
น.ส.พันธิวา มาศทอง ชั้น ปวส.2 สาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีก วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล นักศึกษาพิการ(หูหนวก) บอกว่า มาเรียนที่นี่รู้สึกดีและชอบมาก รวมทั้งรู้สึกภูมิใจที่ครูให้โอกาส พฤติกรรมที่ไม่ดีครูก็ได้อบรมสั่งสอนเพื่อให้เป็นคนดี ตอนไปฝึกงานที่ร้านแบล็คแคนยอน หัวหน้าก็สอนจนสามารถชงกาแฟได้ พันแก้วด้วยทิชชูได้ ได้เรียนรู้วิธีการบริการแขก รับออเดอร์ เสริฟอาหาร จัด-เก็บกวาดโต๊ะ ล้างจาน ทำได้ทุกอย่าง ได้รับความรู้อย่างมาก เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่าคนหูดีกับคนหูหนวกสามารถเรียนร่วมกันได้แน่นอน
นายพงศกร ดาดวน ปวส.2 สาขาการโรงแรม วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล บอกกว่า มาเรียนที่นี่ตั้งแต่ ปี 1 พอขึ้นปี 2 ก็ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่โรงแรมรอยัลเจมส์ ได้ฝึกเรื่องการดูแลจัดห้องพัก ทำความสะอาดห้องพัก ช่วงฝึกงานก็ได้เงินด้วย การได้ฝึกงานนอกจากได้ความรู้แล้วยังทำให้มีความชำนาญเรื่องงานดูแลห้องพักโรงแรมด้วย
ครูเล็ก สุรีรัตน์ ทักษะวสุ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ DSS วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์ DSS วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการจัดการศึกษาให้เด็กพิการได้มีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ วันนี้มีนักศึกษาพิการในความดูแล 10 กว่าคน และมีนักศึกษาหลักสูตรระยะสั้นอีก 20 กว่าคน อย่าง ข้าวฟ่าง หรือจักรพันธ์ จิรพงศ์ปรีดา ซึ่งเป็นผู้พิการทางร่างกายและสุขภาพ มีความสนใจเรื่องอาชีพ ได้เลือกมาเรียนสาขาเครื่องหนัง ซึ่งสามารถช่วยเรื่องการบำบัด ทำให้สุขภาพดีขึ้น ได้บริหารกล้ามเนื้อมือ เรียนแล้วสามารถสร้างอาชีพและมีงานทำ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือข้าวฟ่างสามารถสอนประชาชนที่มาเรียนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นด้วย คือ เมื่อข้าวฟ่างเรียนจบระดับ ปวส. ทางวิทยาลัยได้ทำโครงการจ้างเป็นพนักงานของศูนย์ DSS ให้ทำหน้าที่ดูแลรุ่นน้องพิการที่เข้ามาเรียน และยังเป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ พิการคนอื่นด้วย เพราะข้าวฟ่างเป็นตัวอย่างของคนพิการที่สามารถเรียนและมีอาชีพเลี้ยงตัวเองและเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ด้วย ไม่เป็นภาระของสังคม พึ่งพาตนเองได้
ติดตามชมรายการ “ทีช ทอล์ค ทัวร์ สเตชัน” ย้อนหลังผ่านช่องทาง YouTube: DailyNews Live-TH หรือ ชมสดทุกวันพฤหัสบดี เวลา 11.30 – 12.00น.