แนะแนวการศึกษาครั้งใหญ่ "เด็กพิการ เรียนที่ไหนดี ?"
"เปิดเทอมใหม่ เด็กพิการมีที่เรียน!" สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายและ 11 มหาวิทยาลัยดัง จัด “มหกรรมแนะแนวการศึกษาคนพิการ” แนะแนวเรียนต่อ ตอบทุกคำถาม ตั้งแต่วิธีตั้งเป้าหมายชีวิต การสมัครสอบ การปรับตัว และเส้นทางสู่การมีงานทำ
เป็นแนวคิดของหลายกลุ่มองค์กรที่ขับเคลื่อนเพื่อสิทธิคนพิการ โดยเชื่อว่า ความพิการเป็นเพียงความแตกต่างของมนุษย์ และ การศึกษา คือ กุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนพิการ
แต่ข้อมูลจาก สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า คนพิการในประเทศไทยราวร้อยละ 30 ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่เด็กพิการก็ยังมีคำถาม โดยเฉพาะอุปสรรคในการเลือกศึกษาต่อชั้นอุดมศึกษา ที่พวกเขายังไม่ได้รับคำตอบ หรือ คำแนะนำที่เหมาะสมจากงานแนะแนวทางการศึกษาทั่วไป
นายสมบูรณ์ ชุติวิโรจน์สกุล ผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด กิจการเพื่อสังคมที่ทำงานด้านการพัฒนาการศึกษา สร้างอาชีพ และสร้างความตระหนักต่อคนพิการในสังคม ระบุว่า สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการเข้าศึกษาต่อในรั้วมหาวิทยาลัยของเด็กพิการ คือ การเปิดใจของสังคม เพราะคนพิการมีความสามารถมาก แต่สังคมต่างหากที่มองเขาเป็นเพียงผู้รอรับความช่วยเหลือ ทั้งที่ในความเป็นจริง แค่เพียง โอกาส ก็เพียงพอ
มหกรรมแนะแนวการศึกษา เด็กพิการเรียนไหนดี 63' เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562 มีเด็กพิการเข้าร่วมกว่า 200 คน เป็นพื้นที่สนับสนุนให้การศึกษาได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ที่จะช่วยส่งต่อเด็ก ๆ ให้ถึงฝั่งฝัน ทั้งการพัฒนาศักยภาพ สร้างความตระหนัก และความเข้าใจในความแตกต่าง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ผู้พิการสามารถอยู่ร่วมกับคนไม่พิการได้อย่างยั่งยืน และเป็น Inclusive Society ได้อย่างแท้จริง
โดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ให้คนพิการเข้าใจสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ฉุกคิดถึงเป้าหมายในชีวิต มีข้อมูลเพียงพอที่จะเลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเอง และขจัดข้อสงสัยเพื่อวางแผนการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพื่อเชื่อมโยงคนเรียนเข้ากับสถานศึกษา และสถานประกอบการที่ต้องการมอบโอกาสให้คนพิการได้มาพบกัน
นายชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ ตัวแทนจากภาคเอกชน ระบุว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสให้คนพิการทำงานผ่าน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 33, 34 และ 35 ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสนับสนุนคนพิการได้หลายรูปแบบตามศักยภาพในระยะยาว
นายชาติชาย ยังระบุว่า ผู้ประกอบการเองก็มีความพร้อม และต้องการเห็นองค์กรมีความหลากหลาย มีคนที่แตกต่างกัน ทั้งทางร่างกาย ทางเพศ หรือ อายุ ควรอยู่ด้วยกันได้ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
รศ.ณัฏฐนียา โตรักษา อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ม.มหิดล ระบุว่า ระบบการศึกษาคนพิการปัจจุบัน ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา มีแนวโน้มการศึกษาต่อของเด็กพิการลดลง ความท้าทายของการจัดการเรียนการสอนให้เด็กกลุ่มนี้ คือ เราจะออกแบบระบบแบบไหน ให้คนพิการเกิดความเชื่อมั่น
อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ระบุถึงหนึ่งในวิธีการสร้างศักยภาพคนพิการ นั่นก็คือ การออกแบบหลักสูตร ที่ต้องนำรูปแบบงานที่ทำจริงในภาคอุตสาหกรรมมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร เด็กที่จบออกมา จะมีทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ และหากจะสร้างโอกาสให้พวกเขามีงานทำ ความรู้กว้างสำคัญกับคนพิการ หมายถึง เรียนให้รู้ทุกอย่าง เขาอาจไม่ได้ชอบทุกอย่าง แต่สุดท้ายจะค้นหาตัวเองได้ ว่าเขาชอบอะไร และเปิดโอกาสในการทำงานให้กับพวกเขา
หลายกิจกรรมภายในมหกรรมแนะแนวการศึกษา เด็กพิการเรียนไหนดี 63' ช่วยติดอาวุธให้แก่เด็กพิการ เช่น การอธิบายระบบการสอบ TCAS ของ "ครูแฮนด์" ธารา อิสสระ แห่ง eduzones.com ที่มาอธิบายระบบการสอบ TCAS เพื่อตั้งเป้าหมายการหาข้อมูลคณะที่สนใจ สร้างความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงการเล่าที่มาของกระบวนการสอบ TCAS การสมัครและการใช้สิทธิ์สมัคร รวมทั้งตอบคำถามถึงความเข้าใจผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการสอบ TCAS
การเริ่มสอนวิธีคิดสร้างสรรค์แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) วิธีคิดออกแบบ และการเขียนถ่ายทอดความเป็นตัวของตัวเองลงในแฟ้มผลงาน การแนะนำเทคนิคเข้ารับสัมภาษณ์ ทั้งการเตรียมตัวด้านบุคลิกภาพ ความรู้ และไหวพริบ รวมถึงระบบการรับและดูแลนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธของมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสยาม วิทยาลัยอาชีพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่
โดยหลังจากนี้ หากต้องการรับทราบข้อมูลเพื่อแนะแนวการศึกษาเพิ่มเติม นอกจากช่องทางของ eduzones แล้ว ยังมีกิจการเพื่อสังคมอย่าง "กล่องดินสอ" เป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลและเป็นช่องทางในการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้
นี่ถือเป็นมหกรรมใหญ่ของประเทศไทย ที่เปิดพื้นที่สนับสนุนให้เด็กพิการมีโอกาสเตรียมความพร้อม เดินหน้าสู่ความฝัน และการสร้างศักยภาพของตัวเอง แต่จะถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ “โอกาสและการเปิดใจยอมรับของสังคม” ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างพลังของกลุ่มคนพิการได้อย่างยั่งยืนมากที่สุด