‘ศธ.’สร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมผู้พิการเรียนสายอาชีพ หวังให้พึ่งพาตนเองได้ในสังคม
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่าน (ปฐมนิเทศนักศึกษาพิการ ประจำปี 2567) และแสดงผลงานด้านการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา โดยมีคณะผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วม ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกคน ยกระดับการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยเชื่อมั่นว่าผู้เรียนทุกคนจะมีความสุขถ้าได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคกัน จึงได้กำหนดนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรีมีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผู้เรียน และประชาชนได้เรียนตามความสนใจและความถนัดของตนเองโดยเฉพาะผู้พิการที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางจำเป็นต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาและการฝึกทักษะวิชาชีพ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตในสังคม และเกิดความมั่นคงของชีวิตได้ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าของสังคม
ด้าน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สอศ.ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำนโยบายรัฐบาลและนโยบาย ศธ. สู่การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา 8 วาระงานพัฒนาอาชีวะ โดย สอศ. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่าน และแสดงผลงานด้านการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมผู้เรียนพิการในมิติต่างๆ โดยภายในงานจัดให้มีนิทรรศการการดำเนินงานศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษ (ศพอ.) นิทรรศการ 5 เมืองอาชีพ ได้แก่ เมืองผ้าและผลิตภัณฑ์ เมืองศิลปะ เมืองอาหาร เมืองสุขภาพ และเมืองอุตสาหกรรม นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการและนิทรรศการสถานศึกษาเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง (วช.) สุรินทร์ เฉพาะทางความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และทางสติปัญญา, วช.เชียงใหม่ เฉพาะทางทางความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างการ และทางสติปัญญา เป็นต้น ซึ่งมีกลุ่มคนพิการทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ พิการทางการเห็น พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย พิการจิตใจหรือพฤติกรรม พิการทางสติปัญญา พิการทางการเรียนรู้ และพิการทางออทิสติก ร่วมแสดงผลงานและสาธิตอาชีพด้วย
“ในปีการศึกษา 2567 มีคนพิการจำนวน 1,853 คน ได้เข้าศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2% จากปีการศึกษา 2566 เพื่อให้คนพิการและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการ (Up Skill, Re Skill) มีหลักสูตร 86 หลักสูตร มีคนพิการผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 2,000 คน สอศ. ให้ความสำคัญกับคนพิการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และยังเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเชื่อมั่นว่าหากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการขัดเกลาและพัฒนาให้มีศักยภาพเพียงพอแล้ว จะสามารถเป็นกำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการสู่สังคม และช่วยสร้างโอกาส ความเสมอภาคสำหรับคนพิการให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาสายอาชีพมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ กอศ. ระบุ
ขอบคุณ... https://www.naewna.com/local/813784