มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนสถาบันราชสุดา มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านโอกาสการศึกษา

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนสถาบันราชสุดา มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านโอกาสการศึกษา

คนพิการคือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ โดยเฉพาะการได้รับการศึกษา แม้ว่าในทางกฎหมาย ภาครัฐจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับและสามารถเข้าถึงได้ แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนพิการนั้นยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากและอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในด้านหลักสูตร โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 พบว่า มีจำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายในประเทศไทยทั้งสิ้น 423,936 คน คิดเป็น 19.19 % ของคนพิการทั้งหมด โดยในจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายทั้ง 423,936 คนเหล่านี้ มีผู้ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาสูงที่สุด 282,410 คน รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาที่ 35,899 คน ในขณะที่ผู้ที่ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามีเพียง 9,227 คนเท่านั้น จากข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าคนหูหนวกในประเทศไทยยังคงขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งปัญหาการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนสถาบันราชสุดา มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านโอกาสการศึกษา

จากสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ พบว่าจำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย ได้รับการว่าจ้างตามมาตรา 33 และ มาตรา 35 รวมกันมีเพียง 10,463 คนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความพิการยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเข้าถึงอาชีพในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งมั่นเป็นสถานศึกษาที่เปิดโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี โท และเอก เป็นสถานศึกษาที่ผลิตครูสำหรับคนหูหนวกโดยเฉพาะ รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงให้กับคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือดูแลสุขภาพทางกายและจิตใจผ่านงานบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในสังคมได้

อาจารย์ ดร.ปรเมศวร์ บุญยืน ประธานหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสอนทั้งหมด 5 หลักสูตร ดังนี้ ระดับปริญญาตรี สำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาที่มีการได้ยิน ได้แก่ 1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์ และวิชาเอกล่ามภาษามือไทย และ2. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก สำหรับระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้แก่ 3. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 4. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ และ5. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนสถาบันราชสุดา มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านโอกาสการศึกษา

สถาบันราชสุดาฯ มีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเรียนรวมกับคนทั่วไปได้อย่างเท่าเทียม มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในห้องเรียน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างคนพิการและบุคคลทั่วไป มีการจัดบริการสนับสนุนการศึกษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดปัญหาอุปสรรคด้านการเรียนรู้ที่เกิดจากข้อจำกัดด้านความพิการ เช่น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะมีบริการล่ามภาษามือ บริการจดคำบรรยายการสอน และการนำสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น นักศึกษาพิการทางการเห็น มีการให้บริการเทคโนโลยีที่ช่วยในการมองเห็น และการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบ เช่น สื่อหนังสือเสียง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่ออักษรเบรลล์และสื่อภาพนูน อีกทั้ง มีผู้สอนที่มีความเข้าใจลักษณะความพิการและความต้องการเฉพาะของนักศึกษาพิการ มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาพิการ เพื่อให้นักศึกษามีการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ นำไปสู่การผสานความแตกต่างระหว่างนักศึกษาพิการและนักศึกษาทั่วไป และการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเข้าใจ

นอกจากนี้ จากสถิติในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวน 178 คน โดยเป็นล่ามภาษามือที่มีการได้ยิน 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน และยังพบว่าทั่วประเทศ มีล่ามภาษามือ 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามือ 36 จังหวัด ปัจจุบัน ล่ามภาษามือมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมากที่สุด 3 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพ 69 คน นนทบุรี 28 คน และนครปฐม 16 คน จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลนของล่ามภาษามือ ในภาวะเช่นนี้ สถาบันราชสุดา ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ผลิตล่ามภาษามือในระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการผลิตล่ามภาษามือระดับประกาศนียบัตร จึงให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อร่วมดำเนินโครงการอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชนระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนสถาบันราชสุดา มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านโอกาสการศึกษา

สำหรับภารกิจการมอบโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการ ผ่านการสร้างบุคลากรครูเพื่อผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน “พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ” ผู้จัดการ มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อให้คนพิการในสังคมไทยมีโอกาสทางการศึกษา ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา และสามารถมีอาชีพที่มั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพครูที่สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ในอนาคต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในสังคมไทยอย่างยั่งยืน

โดยในการระดมทุนของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการและส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมนั้น โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันราชสุดา และมอบทุนการศึกษาให้แก่เหล่านักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ด้วยสถาบันราชสุดาเป็นสถาบันการศึกษาที่ส่งเสริมการศึกษาให้แก่คนพิการระดับอุดมศึกษา ช่วยสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านคนพิการและการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เพราะการมอบการศึกษาช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของคนพิการในประเทศไทย

ทั้งนี้ สถาบันราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล หรือเดิมมีชื่อว่า วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดขึ้นจากน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาคุณ พระมหากรุณาธิคุณและพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเชื่อในศักยภาพของคนพิการ ด้านการศึกษา พัฒนาอาชีพ และสามารถพึ่งตนเองได้ แต่สิ่งที่คนพิการส่วนใหญ่ยังขาดแคลนคือโอกาสทางการศึกษา จึงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับคนพิการ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยมีพระราชกฤษฎีกาประกาศการจัดตั้งวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2536 และในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2536 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารอำนวยการ วิทยาลัยราชสุดา จนกระทั่งปัจจุบันเป็นสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา เพื่อร่วมกันทำภารกิจสำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาบุคลากรกลุ่มวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านคนพิการให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย อีกทั้งช่วยสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขอบคุณ... https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000111441

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 22 พ.ย. 67
วันที่โพสต์: 22/11/2567 เวลา 15:59:34 ดูภาพสไลด์โชว์ มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนสถาบันราชสุดา มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านโอกาสการศึกษา