นักเรียนพิการ “ร.ร.โสตศึกษา จ.นครปฐม” คว้าแชมป์ KidBright for All สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ด้วยบอร์ด KidBright
สวทช.ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดกิจกรรมประกาศรางวัล KidBright for All : โครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ของนักเรียนพิการ
ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright หรือบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค-สวทช. โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ นางสาววันทนีย์ พันธชาติ กรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ผู้แทนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สพฐ. คณะกรรมการตัดสิน ครูและนักเรียนพิการรวมกว่า 250 คนเข้าร่วมงาน
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของกลุ่มนักเรียนพิการโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถและศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ตลอดจนให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวซึ่งกันและกันระหว่างโรงเรียน โดยมีครูและนักเรียนพิการเข้าร่วมจำนวน 26 โรงเรียน และทาง สวทช. โดยเนคเทค เป็นผู้สนับสนุนบอร์ด KidBright ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการขยายผล จำนวน 50 บอร์ดต่อโรงเรียน ทั้งนี้ ได้นำหลักสูตรและกิจกรรมที่ดำเนินงานกับโรงเรียนนำร่องของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มาใช้ในการอบรมให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนพิการตั้งแต่การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน การใช้เซ็นเซอร์ต่างๆ และบอร์ดขยายความสามารถร่วมกับบอร์ด KidBright ไปจนถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ซึ่งคณะครูที่เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้ไปขยายผลจัดกิจกรรมการสอนโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนเพิ่มเติมในวงกว้างร่วมด้วย
ศาตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กล่าวว่า ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะของนักเรียนพิการให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจและส่งเสริมทักษะขั้นพื้นฐานในการนำข้อมูลสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลไปสร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเห็นได้จากผลงานที่นักเรียนและครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมมาพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ได้อย่างน่าสนใจทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนทุกกลุ่ม โดยมีโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียน ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวจาก 10 โรงเรียนเมื่อปี 2561 จนสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยัง 26 โรงเรียนทั่วประเทศในปัจจุบัน
ด้าน นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาของประเทศ ให้ความสำคัญต่อการศึกษาพิเศษ และตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายโค้ดดิ้ง (Coding) ด้วยการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดแบบมีตรรกะ และมีระบบในการแก้ปัญหา สามารถวางแผนการจัดการอย่างเป็นขั้นตอนในการดำเนินชีวิต การจัดการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ Coding เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายที่จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู นักเรียนและผู้ปกครอง เข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเริ่มพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนพิการต่อไป
สำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ด้าน Coding ผ่านการใช้งานบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของ สวทช. โดยเนคเทค ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 26 โรงเรียนต่อไป