เอพี สร้างโอกาสผู้พิการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ชูคอนเซ็ปต์ ชีวิตดี ๆ ที่เลือกเองได้
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) องค์กรระดับผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ “คน” อย่างแท้จริง เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาต่างเข้ามาส่งเสริมให้บัณฑิตและเยาวชนผู้พิการมีชีวิตดี ๆ ที่เลือกเองได้
ผลเช่นนี้จึงทำให้ “เอพี (ไทยแลนด์)” ร่วมกับ 4 พันธมิตรหลักปักธงโครงการ “เพราะฉันคือ…ฉัน #IamPower” โดยมีเจตจำนงสำคัญในการมอบโอกาสผู้พิการในการเข้าถึงทักษะใหม่ ๆ ที่ใช้งานได้จริง ทั้งยังเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงาน และการเข้าถึงตลาดงานคุณภาพเทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป
“วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดทางสังคมที่สะท้อนคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชนในประเทศ ซึ่งเอพี (ไทยแลนด์) ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพคนทุกคนมาอย่างต่อเนื่องผ่านองค์ความรู้ มุมมอง และทักษะใหม่ ๆ ที่นำมาซึ่งนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยปีนี้ต่อยอดการพัฒนาศักยภาพคนไปสู่เยาวชนและบัณฑิตผู้พิการ ภายใต้โครงการ “เพราะฉันคือ…ฉัน #IamPower” เพื่อเอ็มพาวเวอร์บัณฑิตและเยาวชนผู้พิการมีชีวิตดี ๆ ที่เลือกเองได้ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมใหญ่ ได้แก่ IW-Inclusive Workplace ปีที่ 2 เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่โลกการทำงาน โดยมีบัณฑิตและเยาวชนผู้พิการกว่า 100 คน จาก 21 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วม
ด้วยหลักสูตรพิเศษเสริมสร้างทักษะความรู้ก่อนเข้าสู่ตลาดงานจริง และล่าสุดกับงานสัมมนาครั้งใหญ่ของประเทศอย่าง AP-SEAC presents Creative Talk Conference 2022 (CTC 2022) ที่จัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่มอบโอกาสแก่เยาวชนผู้พิการเข้าร่วมงานกว่า 240 ท่าน จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบ on ground และ online
การจัดงานครั้งนี้มีการดีไซน์พื้นที่เป็นพิเศษในรูปแบบ universal access เป็นครั้งแรกของประเทศเพื่อรองรับผู้พิการอย่างครอบคลุมที่สุด ทั้งผู้พิการทางสายตา ทางการเคลื่อนไหว และการได้ยิน ให้สามารถร่วมงานรับองค์ความรู้ได้อย่างสะดวก
อาทิ การพิมพ์อักษรเบรลล์ในบัตรเข้าร่วมงาน มีช่องลงทะเบียนที่มีความกว้างเป็นพิเศษรองรับผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ ตลอดจนมีล่ามภาษามือบนเวทีเพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่วิทยากรบรรยาย ทั้งยังเข้าถึงองค์ความรู้และทักษะแห่งอนาคตที่นำไปใช้ได้จริง
“ผมหวังว่างาน AP-SEAC presents Creative Talk Conference 2022 จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดกว้างทางความรู้ให้กับน้อง ๆ เยาวชนและบัณฑิตผู้พิการ รวมถึงยังเป็นการเซตมาตรฐานใหม่ให้กับการจัดงานสัมมนาต่อไปของประเทศ เพื่อมอบโอกาสที่ให้กับทุกคนในสังคมในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ”
“วิทการ” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพูดคุยกับน้อง ๆ ผู้พิการ หลายคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจอย่างเปี่ยมล้นที่จะเก็บเกี่ยวความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเขาไม่เคยได้เข้าร่วมมาก่อน นอกจากนี้ ยังมีหลาย ๆ คนที่มีความตั้งใจมาฟังประสบการณ์และไอเดียจากวิทยากร เพื่อเข้าถึงเทรนด์ต่าง ๆ และสานฝันอาชีพในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็น YouTuber, Content Creator, Interior Design และนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเอพี (ไทยแลนด์) มีความภูมิใจ และยินดีที่ร่วมส่งต่อพลังบวกไปถึงทุกคน เพื่อให้พวกเขามีกำลังใจทำตามความฝัน
โดยเฉพาะกับบัณฑิตและเยาวชนผู้พิการ เราอยากให้ทุกคนมองไปข้างหน้า ไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนา และเชื่อในศักยภาพตัวเอง ซึ่งเอพี (ไทยแลนด์) และพันธมิตรพร้อมสนับสนุนให้ทุกคนเดินตามความฝันอย่างเต็มที่ ด้วยการมอบโอกาสในการเข้าถึงทักษะแห่งอนาคตที่ใช้งานได้จริง ด้วยความรู้ที่ทันยุคสมัย เพื่อทลายทุกข้อจำกัดชีวิต โดยให้ทุกคนสามารถสร้างเส้นทางเพื่อเดินสู่เป้าหมายให้สำเร็จด้วยพลังในตัวของทุกคน
กล่าวกันว่า ความสำเร็จครั้งนี้มาจากพาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้ง 4 องค์กร ได้แก่ SEAC (ซีแอค) ผู้นำด้านการพัฒนาผู้บริหาร บุคลากรและองค์กรที่มุ่งเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต, VULCAN COALITION (วัลแคน โคอะลิชั่น) องค์กรที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม
โดยมีภารกิจหลักในการสร้างงานและรายได้ให้กับผู้พิการ, CREATIVE TALK (บริษัท ครีเอทีฟทอล์ค จำกัด) ผู้ริเริ่มจัดงาน Creative Talk Conference ขึ้นในไทย และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่สนับสนุนให้คนพิการมีอาชีพและลดช่องว่างของการจ้างงาน รวมถึงอาสาสมัครกว่า 200 คนที่ทำงานอย่างสุดพลัง ส่งผลให้การจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
“เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด หนึ่งในพันธมิตรของโครงการ “เพราะฉันคือ…ฉัน #IamPower” กล่าวว่า ปกติการเข้าร่วมอีเวนต์ต่าง ๆ ของน้องผู้พิการไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่ได้ออกแบบให้ผู้พิการเข้าถึงได้
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มน้องหูหนวก ถ้าไม่มีล่ามภาษามือแปล เขาจะไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่วิทยากรพูดเลย หรือจะเป็นกลุ่มผู้พิการทางสายตา ถ้าไม่มีอาสาสมัครที่มีความเข้าใจในการพาเดิน อธิบายสิ่งต่าง ๆ รวมถึงผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ใช้วีลแชร์ หากทางเดินแคบก็จะค่อนข้างลำบากในการไปยังจุดต่าง ๆ
ซึ่งงาน CTC 2022 ครั้งนี้มีการออกแบบรองรับการเข้าร่วมงานของผู้พิการทุกประเภท โดยในส่วนของเอพี (ไทยแลนด์) ผู้พิการสามารถร่วมกิจกรรมผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อทำเทสต์ว่าตัวเขามีจุดแข็งในด้านใด ซึ่งแอปพลิเคชั่นของเอพี รองรับระบบ accessible ของโทรศัพท์มือถือ สามารถเปิดประสบการณ์ที่ดีให้กับน้อง ๆ มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม
“ธนัญชกร สันติพรธดา” หนึ่งในผู้พิการทางการมองเห็น เล่าถึงความรู้สึกที่เข้าร่วมงาน CTC 2022 ครั้งนี้ว่า ประทับใจมากเนื่องจากมี inclusive design เข้ามา ทำให้ตนเองและเพื่อน ๆ สามารถเข้าร่วมงานได้เต็มที่ ทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เรารับรู้เทรนด์ต่อจากนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ทำให้มีไอเดียไปต่อยอดให้กับตัวเอง
“สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะเก็บเกี่ยวความรู้จากงานนี้ไปมากแค่ไหน ถ้าไม่ลงมือทำก็จะไม่สามารถทำให้ตัวเราพัฒนาได้ งานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อให้เราก้าวทันโลกในปัจจุบันรวมถึงอนาคต ขอขอบคุณเอพี (ไทยแลนด์) ซึ่งสัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริงที่มีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เรามีส่วนร่วมได้จริง สนุกไปกับงานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานได้จริง”
“ธาม บันลือธัญลักษณ์” ผู้พิการทางออทิสติก กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสเข้าร่วมงาน conference ระดับประเทศ ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยได้เรียนรู้ คือ ทักษะชีวิต และเปิดประสบการณ์ที่ไม่มีในโรงเรียน ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน ทั้งเอพีและบริษัทต่าง ๆ ที่ทำให้ผมและเพื่อน ๆ ผู้พิการมาเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้เพิ่มทักษะให้กับตัวเองได้
“กมลวรรณ กระถินทอง” ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว กล่าวว่า ผู้พิการแต่ละคนมีต้นทุนทางชีวิตไม่เท่ากัน แต่มีโอกาสในการเรียนรู้ได้เหมือนกัน อย่างเช่น งาน CTC 2022 ครั้งนี้ได้จุดประกายและกระตุ้นพลังบวกในตัวเอง ให้ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปอย่างมีความสุข
ที่ผ่านมาตนเองเมื่อจบการศึกษา ก็ไปสมัครงานหลายแห่ง พอถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์พบว่าเรานั่งวีลแชร์ บางแห่งก็ปฏิเสธทันที โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้พูดคุยใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันองค์กรใหญ่ ๆ หลายแห่งเปิดกว้าง และรับผู้พิการเข้าทำงาน ให้ได้สานฝันทำงานที่เรารัก สำหรับตนเองมองว่าในอนาคตนอกเหนือจากการทำงานที่ตรงกับวิชาชีพแล้ว