เด็กยากจนเงียบเชียบ อีกปัญหา เร้นกาย ระบบการศึกษา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สร้างผลกระทบมากมายให้กับวงการศึกษา ไม่เพียงจะทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน จนทำให้เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้เท่านั้น ยังส่งผลกระทบทำให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษาหลายแสนรายภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมา!!
ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหา เมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลนำโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 11 หน่วยงาน เดินหน้าโครงการพาน้องกลับมาเรียน
จากการดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน ในเฟสแรกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จากจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการ ที่ตกหล่นและออกกลางคัน รวม 121,642 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มปกติ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมทั้งสิ้น 67,129 คน พบตัวแล้ว 52,760 คน
ในจำนวนที่พบตัวนี้กลับเข้าระบบ 31,446 คน ไม่กลับเข้าระบบ 21,314 คน อยู่ระหว่างการติดตาม 5,628 คน และติดตามแล้วไม่พบตัว 8,741 คน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สพฐ.และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษา กศน.อายุเกิน 18 ปี ที่เกินวัยการศึกษาภาคบังคับและมีความต้องการประกอบอาชีพ
ส่วนสาเหตุที่เด็กจำนวน 21,314 คน แม้จะติดตามพบตัวแล้ว แต่ยังไม่กลับเข้าระบบ มีดังนี้ เด็กในระดับการศึกษาภาคบังคับ ไม่กลับเข้าระบบจำนวน 10,929 คน แบ่งเป็น จบการศึกษาภาคบังคับและไม่ประสงค์เข้าเรียนต่อ 3,953 คน, อายุพ้นเกณฑ์และไม่ประสงค์จะเรียนต่อ 1,283 คน, ความจำเป็นทางครอบครัว 1,128 คน, ย้ายถิ่นที่อยู่ 1,148 คน, ผู้รายงานไม่ระบุ 707 คน, ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 666 คน, ผู้ปกครองมีรายได้น้อย 594 คน, สุขภาพของครอบครัว 409 คน, ความพิการ 243 คน, สุขอนามัย 246 คน, ปัญหาการปรับสภาพตัวเองในสังคม 233 คน, การคมนาคมไม่สะดวก 105 คน, การประพฤติ ปฏิบัติขัดระเบียบของสถานศึกษา 70 คน, เสียชีวิต 64 คน, อยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยง 48 คน และได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ 32 คน
เมื่อไม่นานมานี้ “น.ส.ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ออกมาประกาศเดินหน้านโยบายนี้ต่อ โดยระบุว่า ศธ.จะเดินหน้าต่อพาน้องกลับมาเรียน เฟส 2 โดยเน้นช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ในวัยการศึกษาภาคบังคับที่ตามตัวพบแล้วแต่ยังไม่กลับเข้าสู่ระบบให้ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการพากลับมาได้ 100% ภายในเดือนกันยายนนี้
ด้าน สพฐ.ถือเป็นหน่วยงานที่ดูแลเด็กมากที่สุด ได้ขับเคลื่อนนโยบายนี้มาตลอดเช่นกัน โดย “ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินการติดตามค้นหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในเฟสแรก พบว่า สพฐ.มีเด็กหลุดจากระบบ 28,134 คน ติดตามพบ 27,480 คน กลับเข้าระบบ 20,053 คน ติดตามไม่พบ 428 คน ติดตามพบแต่ยังไม่กลับเข้าระบบ 7,355 คน กำลังติดตาม 226 คน
แม้ในภาพรวมนโยบายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ แต่ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ แถมติดตามตัวก็ยาก เพราะเป็นเด็กในกลุ่มที่เรียกว่า ยากจนเงียบเชียบ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อธิบายลักษณะของเด็กกลุ่มนี้ว่า เด็กยากจนเงียบเชียบ ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่ขาดรายได้ รายได้น้อย พ่อแม่ตกงาน ไม่มีเงินอุปการะเลี้ยงดู เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเด็กเหล่านี้ทราบปัญหาของครอบครัวดีจึงพร้อมที่จะออกจากระบบการศึกษามาทำงานช่วยเหลือครอบครัว
นอกจากนี้ พบข้อมูลว่า ในช่วงรอยต่อของระดับการศึกษา มีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เช่น ระดับชั้นอนุบาล 3 ขึ้น ป.1 มีโอกาสที่เด็กจะหลุดจากระบบ 4% ระดับชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 มีโอกาสที่เด็กจะหลุดจากระบบ 19% และในระดับชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 มีโอกาสที่เด็กจะหลุดจากระบบ 48% และเด็กที่ยากจนเงียบเชียบ ส่วนใหญ่จะหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อมากที่สุด
เด็กกลุ่มยากจนเงียบเชียบ สามารถแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้ 1.กลุ่มเด็กที่ยากจนเงียบเชียบ ซึ่งเด็กเหล่านี้กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
ซึ่งจำนวนนั้นจะสอดคล้องกับขนาดพื้นที่ และบริบทของจังหวัดนั้นๆ เช่น ในจังหวัดเล็ก จะมีเด็กยากจนเงียบเชียบอยู่เฉลี่ย 100-200 คน เป็นต้น เด็กเหล่านี้จะทราบปัญหาในครอบครัวของตน พร้อมออกจากระบบการศึกษาเพื่อช่วยเหลือครอบครัว สิ่งที่ตามมาคือเด็กจะมีปัญหาสุขภาพจิตสะสม จนกลายเป็นเด็กที่เครียดเงียบ
จากที่ลงพื้นที่ติดตามเด็กเหล่านี้พบว่า บางครอบครัวพาเด็กไปขอทาน บางครอบครัวต้องทิ้งเด็กให้อยู่ตามลำพัง บางครอบครัวฝากลูกไว้กับวัด ฝากลูกไว้กับเพื่อนในระหว่างที่พ่อแม่ออกไปหางานทำ หรือเด็กบางคนต้องออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ เช่น ออกไปขายพวงมาลัยตามสี่แยก ออกไปเล่นดนตรีเปิดหมวก เป็นต้น
กลายเป็นว่าเด็กเหล่านี้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่เด็ก ทั้งที่ควรจะได้รับโอกาสในการศึกษา
2.กลุ่มเด็กพิการ จากข้อมูลพบว่ามีเด็กพิการ 7-8 พันคน ที่มีข้อมูลแต่ติดตามกลับเข้าระบบไม่ได้ ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเด็กเหล่านี้ต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ชีวิตกลับถูกสังคมปล่อยปละละเลย และทิ้งไว้ข้างหลัง และระบบโรงเรียนไม่ได้ใส่ใจเด็กกลุ่มนี้มากเท่าที่ควร ดังนั้น ต้องหาแนวทางที่ทำให้เด็กเหล่านี้สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ ทั้งนี้ ต้องหามาตรการป้องกันการบูลลี่และกลั่นแกล้งระหว่างนักเรียนด้วย พร้อมกับสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เด็กเหล่านี้
และ 3.กลุ่มเด็กชายขอบ เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กมุสลิม และกลุ่มเด็กข้ามชาติ ถือเป็นกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากระบบการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันการเรียนรู้ของเราอยู่ในลักษณะรวมศูนย์ ประกอบกับเด็กกลุ่มนี้เรียนภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ทำให้เด็กลาออกกลางคันและหลุดจากระบบการศึกษาไปจำนวนมาก
“เด็กทั้ง 3 กลุ่มจะเร้นกายออกจากระบบอย่างเงียบ และเด็กอาจจะมีความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับตนเอง ซึ่งจะกลายเป็นปมในชีวิตของเด็ก ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีเด็กเหล่านี้อยู่ สถานศึกษาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ โดยการปรับตัวของโรงเรียนนั้นจะต้องมีเป้าหมายเพื่อช่วยเด็กเหล่านี้ให้ไปต่อ มีชีวิตรอดในสังคมได้ อย่าไปเน้นสร้างเด็กเก่ง หรือสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ศ.ดร.สมพงษ์ระบุ
การติดตามเด็ก 3 กลุ่มนี้ให้เข้าสู่ระบบการศึกษาถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ที่ต้องบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือเด็กแล้ว ควรจะช่วยเหลือพ่อแม่เด็กให้มีงานทำ มีรายได้ประคับประคองตัวเอง ดังนั้น การช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ ไม่ใช่แค่การสงเคราะห์เท่านั้น แต่ต้องช่วยเหลือให้เด็กและครอบครัวสามารถยืนได้ตัวเอง