สอศ. ตั้ง ศพอ. ดูแล-พัฒนาคนพิการ ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างโอกาสทางการศึกษา
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับดูแล นักเรียน นักศึกษาทุกกลุ่มทุกประเภท แต่ที่ผ่านมา สอศ.อาจจะไม่ดูแลกลุ่มเด็กพิการ และกลุ่มเด็กด้อยโอกาสยังไม่ทั่วถึงมากพอ และถ้าไม่มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ต่อไปคนพิการ คนด้อยโอกาส อาจจะถูกทอดทิ้ง ตนจึงตั้งศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา (ศพอ.) ขึ้นมาเพื่อดูแลนักเรียน นักศึกษากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาศทางการศึกษา ตามนโยบายที่น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เน้นย้ำ
ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สอศ. ได้เปิดกว้างทางการเรียน ทำให้กลุ่มคนพิการ เข้ามาเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าปัจจุบันมีคนพิการทั่วประเทศมาเรียนมากกว่า 1,000 คน ซึ่งตนได้สั่งการให้ ศพอ.ทำการสำรวจจำนวนผู้เรียนที่พิการ หรือมีความต้องการพิเศษทั่วประเทศว่ามีจำนวนกี่คน พร้อมกับให้แยกกลุ่มคนพิการ เพื่อที่จะวางแผนพัฒนาการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการ ตรงกับสมรรถนะของแต่ละคน และจะส่งเสริมอาชีพ สนับสนุนให้คนพิการมีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างไร เพราะคนพิการคือคนไทยคนหนึ่ง เราไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนคนพิการที่จะเข้ามาเรียนอาชีวะนั้นจะต้องแยกห้องเรียนหรือไม่ มองว่าขึ้นอยู่กับประเภทของความพิการ เช่น พิการเล็กน้อย ก็สามารถเรียนรวมกับคนอื่นได้ หากพิการด้านร่างกาย ก็จะต้องเรียนแยกต่อไป ผมมองว่ามีแนวโน้มที่คนพิการจะมาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น เพราะคนพิการต้องการอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตนเอง
“นอกจากจะเตรียมความพร้อมพัฒนาคนพิการแล้ว ผมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของ สอศ.แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรทวิศึกษา ร่วมกับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยจะเริ่มสอนหลักสูตรทวิภาคี ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนที่มีความพร้อม พร้อมกับเร่งทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการเรียนระบบทวิภาคีด้วย”ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว