ภัยบูลลี่ ทำเด็กพิเศษต้องออกจากโรงเรียน และการสร้างตึกไม่ช่วยอะไร
อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่ “เรา” ค้นพบจากความพยายามติดตามปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของไทย คือ การบูลลี่กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้มีจำนวนเด็กพิการ ซึ่งรวมถึงเด็กพิเศษ ต้องออกจากระบบการศึกษาไทยกลางคัน ขณะเดียวกันทัศนคติการกางกั้นเด็กพิเศษออกไปจากสังคมภายใต้การทุ่มเทงบประมาณก้อนมหาศาลของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุดแล้ว ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านความก้าวหน้าในกลุ่มครูไทยอีกด้วย
“ปัญหาการ Bully ในโรงเรียนไทย คือ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กพิการ ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กพิเศษรวมอยู่ด้วย จำต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงเกือบ 90% ตั้งแต่ปี 2561-2564 และในจำนวนนี้มีหลุดรอดถึงจบระดับปริญญาตรีเพียงไม่ถึง 2% เท่านั้น” นายชูศักดิ์ จันจันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เริ่มต้นการสังเคราะห์ปัญหาการกลั่นแกล้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในโรงเรียนไทย กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”
บูลลี่ในโรงเรียน = ทำลายอนาคตเด็กพิเศษทางอ้อม
ปัญหาการบูลลี่เด็กพิเศษในโรงเรียน เท่าที่ทราบมักเกิดขึ้นมากในระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น โดยในระดับประถมศึกษานั้นมักเกิดขึ้นจาก “ความไม่รู้และไม่ตั้งใจของเด็ก” โดยสาเหตุหลักๆ มาจากความแปลกแยกทางกายภาพของเด็กพิเศษที่เห็นได้อย่างเด่นชัด หรือ ภาวะทางอารมณ์ของเด็กพิเศษ จนกระทั่งทำให้เพื่อนๆ เกิดความไม่เข้าใจ จนนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันขึ้น
“ต้องเข้าใจด้วยว่าเด็กพิเศษในช่วงวัยประถมศึกษา เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อถูกหยอกล้อ ทำให้มักจะกรีดร้องเสียงดัง นอกจากนี้เขามักจะแสดงออกกับเพื่อนๆ ไม่เป็น เช่น การขอโทษเพื่อนๆ ไม่เป็น หากเขาเผลอไปเล่นแรงๆ กับเพื่อนๆ มากเกินไป ซึ่งประเด็นเหล่านี้มักทำให้เพื่อนๆ เกิดความไม่เข้าใจ และนำไปสู่การกลั่นแกล้งด้วยความไม่ตั้งใจตามประสาเด็กๆ ในที่สุด”
แต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเท่าที่เคยศึกษามาพบว่า เด็กพิเศษตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งค่อนข้างมาก เพราะจากสถิติของกรมสุขภาพจิตพบว่าในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ในสัดส่วนของเด็ก 100 คนที่ถูกบูลลี่ จะเป็นเด็กพิเศษมากถึง 30 คน หรือ 30% ของจำนวนเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในรูปแบบต่างๆ
“กรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเด็กพิเศษที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนเท่าที่เคยพบ คือ ต้องไปปรึกษาจิตแพทย์และสุดท้ายก็ป่วย แล้วก็ต้องไปรับยา และต้องแยกตัวเองออกไปจากสังคม เพราะพ่อแม่ก็ไม่กล้าพาลูกไปโรงเรียน สุดท้ายก็กลายเป็นคนป่วยจริงๆ ที่ต้องอยู่แต่ในบ้านในที่สุด แล้วทีนี้มันจะเหลืออะไร มันคือการทำร้ายกันทางอ้อมหรือเปล่าครับ?”
สถิติคนพิการในระบบการศึกษา กับ ปัญหาการบูลลี่ :
หากลองไปพิจารณาข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างปี 2561-2564 มีประเด็นที่น่าสนใจคือ...
ปี 2561 มีจำนวนคนพิการอยู่ในระบบการศึกษาไทย ตั้งแต่ระดับ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี รวมกันทั้งสิ้น 1,340,654 คน ในจำนวนนี้เป็น กลุ่มเด็กพิเศษรวมกัน 13,614 คน หรือคิดเป็น 1.02%
ปี 2562 มีจำนวนคนพิการอยู่ในระบบการศึกษาไทย ตั้งแต่ระดับ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี รวมกันทั้งสิ้น 1,427,295 คน ในจำนวนนี้เป็น กลุ่มเด็กพิเศษรวมกัน 14,458 คน หรือคิดเป็น 1.01%
ปี 2563 มีจำนวนคนพิการอยู่ในระบบการศึกษาไทย ตั้งแต่ระดับ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี รวมกันทั้งสิ้น 1,502,101 คน ในจำนวนนี้เป็น กลุ่มเด็กพิเศษรวมกัน 15,147 คน หรือคิดเป็น 1.01%
ปี 2564 มีจำนวนคนพิการอยู่ในระบบการศึกษาไทย ตั้งแต่ระดับ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี รวมกันทั้งสิ้น 1,558,117 คน ในจำนวนนี้เป็น กลุ่มเด็กพิเศษรวมกัน 14,169 คน หรือคิดเป็น 0.91%
“สิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลนี้ คือ จำนวนคนพิการซึ่งมีกลุ่มเด็กพิเศษอยู่ในจำนวนนั้นด้วย ที่ได้เข้าศึกษาในระบบนั้น ช่วงระดับประถมศึกษามีจำนวนมากเกือบ 2 ล้านคนในทุกๆ ปี แต่พอในระดับมัธยมศึกษาจำนวนผู้พิการกลับหายไปจากระบบเกือบ 90% ในทุกๆ ปี นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้พิการที่ได้เรียนในระดับมัธยมศึกษาจนกระทั่งจบปริญญาตรีในแต่ละปีนั้นยังเหลือเพียงไม่ถึง 2% ในแต่ละปีอีกด้วย ซึ่งประเด็นมีความเชื่อมโยงกับข้อมูลของกรมสุขภาพจิตที่ว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่สูง คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้คนพิการ ซึ่งรวมถึงกลุ่มเด็กพิเศษ ต้องออกจากระบบกลางคัน”
การที่คนพิการซึ่งรวมถึงกลุ่มเด็กพิเศษ ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันนั้น ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างมากกับอนาคตเด็กเหล่านี้ เพราะเมื่อเด็กไม่มีวุฒิการศึกษา โอกาสสำหรับเด็กพิการซึ่งแม้จะจบในระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า ในการหางานทำนั้นก็น้อยอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อไม่มีวุฒิการศึกษาใดๆ โอกาสในการหางานทำเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ เด็กพิการเหล่านี้ก็จะทำงานพื้นฐานเพื่อรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 กว่าบาทไปตลอดชีวิต ซึ่งแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำลายอนาคตของพวกเขาใช่หรือไม่?
การเรียนรวม ทางออกการแก้ไขปัญหาบูลลี่ในโรงเรียนที่ยั่งยืน :
“จริงๆ แล้ว การเรียนรวม (Inclusive Education) หรือ รูปแบบการศึกษาทั่วไปที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม ถือเป็นหลักสากลที่ปฏิบัติเหมือนกันทั่วโลก และสำหรับเด็กพิเศษ หรือเด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ การศึกษาในรูปแบบรวม ไม่ควรเป็นเพียงทางเลือกสำหรับพวกเขา”
สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องทำความเข้าใจ คือ ในกลุ่มเด็กพิการ เด็กพิเศษ หรือเด็กออทิสติก มีอยู่ด้วยกันหลายระดับ ซึ่งในระดับที่มีความแตกต่างจากคนอื่นไม่มากนัก หากได้มีการเรียนรู้เรื่องการเข้าสังคม ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตกับผู้คน และจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันด้วยกันทั้งสองฝ่าย อีกทั้งจะมีผลถึงอนาคตต่อไปของเด็กพิเศษด้วย เพราะสุดท้ายแล้วปลายทางการของศึกษา คือ การได้มีงานทำมีอาชีพ
“ระบบเรียนรวม ทำให้เด็กพิเศษหลายต่อหลายคนของไทยสามารถมีงานทำได้เมื่อเรียนจบ อย่างบางคนที่ผ่านระบบนี้ได้เป็นข้าราชการมาแล้วก็มี อีกทั้งหากเราไม่ปลูกฝังการเรียนรวมเสียตั้งแต่ตอนนี้ Mindset ของคนทั่วไปก็ยังคงจะย่ำอยู่กับที่ว่าใครด้อยกว่าก็แตกต่างกันอยู่ต่อไป ฉะนั้นเราควรเลิกทัศนคติประเภทของดีเอาไว้กองหนึ่ง ส่วนของที่มีตำหนิเอาไปไว้อีกกองหนึ่งกันได้แล้ว เพราะเราทุกคนต้องปรับตัวเข้าหากัน สังคมจึงจะอยู่ด้วยกันได้”
นอกจากนี้ โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษในประเทศไทยมีเพียง 40 กว่าแห่งเท่านั้น และหนำซ้ำยังเป็นโรงเรียนประจำทั้งหมดด้วย ซึ่งการแยกเด็กออกจากพ่อและแม่เป็นเวลานานถึง 12 ปี (ระดับประถมถึงมัธยมปลาย) เท่าที่เคยได้รับฟังประสบการณ์จากพ่อแม่ที่พาลูกเข้าสู่ระบบแบบนี้มา พบว่า “เด็กพิเศษไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน”
“คนในบ้านก็ไม่คุ้นกับเขา เด็กก็เคยอยู่แต่ในสังคมของตัวเอง สุดท้ายปลายทางเด็กพิเศษเหล่านั้นก็ไม่รู้จะไปในทิศทางไหนในที่สุด ฉะนั้นการ Exclusive หรือการกีดกันคนออกไปจากสังคม มีผลต่อในระยะยาวต่อชีวิตของเด็กพิเศษทุกๆ คน”
ทำอย่างไรเด็กพิเศษจึงจะสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ :
“ทั้งหมดนี้จริงๆ แล้วมันอยู่ที่วิธีคิด มันอยู่ที่มุมมองว่าเราจะมองคนแบบไหน ตอนนี้สังคมเรายอมรับความหลากหลายของผู้คนมากขึ้น ฉะนั้นสำหรับกลุ่มเด็กพิเศษ เพราะอะไรเราจึงต้องไปกีดกันพวกเขาออกจากสังคมกันด้วยล่ะ”
ปัจจุบันโรงเรียนของไทยที่มีโครงการเรียนรวม จะมีแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program) หรือ IEP โดยมีครูที่มีความรู้เรื่องการศึกษาพิเศษเพื่อทำการประเมินเด็ก แต่การประเมินที่ว่านี้ไม่ใช่การประเมินว่าจะรับหรือไม่รับเด็กพิเศษเข้าโรงเรียน แต่จะเป็นการประเมินว่าเมื่อเด็กพิเศษเข้ามาสู่ระบบแล้วจะต้องมีการปรับพื้นฐานในเรื่องใดบ้าง และเป้าหมายของการเรียนรู้คืออะไร และจะมีห้องเรียนพิเศษเพื่อสอนเสริม แล้วก็ปล่อยให้ไปเรียนร่วมกับเพื่อนๆ
“สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ เด็กพิเศษมีร่างกายที่เป็นปกติ และมักจะมีความสามารถพิเศษเป็นเลิศในด้านหนึ่งด้านใดอยู่เสมอ เช่น ด้านคณิตศาสตร์ ศิลปะ หรือแม้กระทั่งการกีฬา เมื่อปล่อยให้พวกเขาได้ไปแสดงจุดเด่นของเขา เขาก็มักจะสามารถใช้ชีวิตกับกลุ่มเพื่อนๆ ได้เป็นปกติ เพราะวิชาเรียนในโรงเรียนไม่ใช่วิชาการอย่างเดียว แต่เป็นวิชาทักษะชีวิตแล้วก็วิชาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ซึ่งหากแยกแยะให้ดีทุกอย่างก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร”
อีกหนึ่งปัญหา ความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ครูไม่อยากรับเด็กพิเศษเข้าเรียนรวม :
“ทราบหรือไม่ว่าความก้าวหน้าในอาชีพครู (Career Path) ของครูที่อยู่ในโรงเรียนเฉพาะสำหรับคนพิการของไทยที่มีประมาณ 8,000-9,000 คน มี Career Path ที่ดีกว่าครูที่อยู่ในระบบเรียนรวม เป็น 10 เท่า อันนี้คือความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างที่เห็นได้อย่างเด่นชัด มันก็เลยนำมาสู่ Mindset ที่ว่า แยกการศึกษาคนพิการไว้กองหนึ่ง การศึกษาคนทั่วไป เอาไปไว้อีกกองหนึ่ง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง
อีกทั้งมันยังนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า...ครูที่ต้องทำหน้าที่ในระบบเรียนรวมซึ่งต้องช่วยดูแลเด็กพิเศษเหมือนกัน แต่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นค่างานสำหรับการประเมินวิทยฐานะเหมือนกับหรือเทียบเท่ากับครูที่อยู่ในโรงเรียนเฉพาะสำหรับคนพิการ คนที่ทำงานจะรู้สึกอย่างไรด้วย!”
ระบบเรียนรวม การตอบโจทย์พัฒนาคนที่ดีกว่าการสร้างตึก :
สิ่งที่ควรเริ่มต้นทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ คือ การสร้างระบบการดูและช่วยเหลือนักเรียนที่ดี และสามารถสร้างความเข้าใจระหว่างกันได้ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ปกครองและครูให้ได้มากที่สุด รวมถึงการว่าจ้างหรือพัฒนาบุคลากรครูให้มีทักษะสำหรับการรองรับเด็กพิเศษเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น ซึ่งวิธีการนี้นอกจากได้ผลดีแล้วยังช่วยประหยัดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการได้จำนวนมากอีกด้วย
“ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ มักจะชอบเน้นไปที่การทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างโรงเรียนเฉพาะสำหรับเด็กพิเศษขึ้น ซึ่งการสร้างโรงเรียนพิเศษแห่งหนึ่งต้องใช้งบประมาณต่อปีเฉลี่ยขั้นต่ำ เฉพาะการก่อสร้างถึงประมาณ 500 ล้านบาท และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเท่าที่ผมทราบ ใช้งบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมการจัดสรรตำแหน่งครูเข้าไปตามโรงเรียนเหล่านั้นเพิ่มเติม
ทั้งๆ ที่หากนำงบประมาณจำนวนนี้ไปใช้ในการพัฒนาระบบการเรียนรวม โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนครูพิเศษหรือพัฒนาบุคลากรครูในโรงเรียนสำหรับการรองรับเด็กพิเศษเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น ผ่านศูนย์การศึกษาที่ลงลึกไปถึงในระดับอำเภอ มันจะสามารถใช้ได้ในระยะยาวและได้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า เพราะเด็กไม่ต้องแยกออกจากครอบครัว ดังนั้นจึงอยากขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการหันมาเดินหน้าอย่างจริงจังในการพัฒนาระบบการเรียนรวมตั้งแต่ในระดับอำเภอทุกอำเภอ และประกาศให้เป็นนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการได้แล้ว”.
ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2601180