มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนสถาบันราชสุดา มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านโอกาสการศึกษา
คนพิการคือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ โดยเฉพาะการได้รับการศึกษา แม้ว่าในทางกฎหมาย ภาครัฐจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับและสามารถเข้าถึงได้ แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนพิการนั้นยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากและอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในด้านหลักสูตร โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 พบว่า มีจำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายในประเทศไทยทั้งสิ้น 423,936 คน คิดเป็น 19.19 % ของคนพิการทั้งหมด โดยในจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายทั้ง 423,936 คนเหล่านี้ มีผู้ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาสูงที่สุด 282,410 คน รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาที่ 35,899 คน ในขณะที่ผู้ที่ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามีเพียง 9,227 คนเท่านั้น จากข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าคนหูหนวกในประเทศไทยยังคงขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งปัญหาการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ
จากสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ พบว่าจำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย ได้รับการว่าจ้างตามมาตรา 33 และ มาตรา 35 รวมกันมีเพียง 10,463 คนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความพิการยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเข้าถึงอาชีพในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งมั่นเป็นสถานศึกษาที่เปิดโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี โท และเอก เป็นสถานศึกษาที่ผลิตครูสำหรับคนหูหนวกโดยเฉพาะ รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงให้กับคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือดูแลสุขภาพทางกายและจิตใจผ่านงานบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในสังคมได้
อาจารย์ ดร.ปรเมศวร์ บุญยืน ประธานหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสอนทั้งหมด 5 หลักสูตร ดังนี้ ระดับปริญญาตรี สำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาที่มีการได้ยิน ได้แก่ 1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์ และวิชาเอกล่ามภาษามือไทย และ2. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก สำหรับระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้แก่ 3. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 4. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ และ5. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
สถาบันราชสุดาฯ มีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเรียนรวมกับคนทั่วไปได้อย่างเท่าเทียม มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในห้องเรียน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างคนพิการและบุคคลทั่วไป มีการจัดบริการสนับสนุนการศึกษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดปัญหาอุปสรรคด้านการเรียนรู้ที่เกิดจากข้อจำกัดด้านความพิการ เช่น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะมีบริการล่ามภาษามือ บริการจดคำบรรยายการสอน และการนำสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น นักศึกษาพิการทางการเห็น มีการให้บริการเทคโนโลยีที่ช่วยในการมองเห็น และการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบ เช่น สื่อหนังสือเสียง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่ออักษรเบรลล์และสื่อภาพนูน อีกทั้ง มีผู้สอนที่มีความเข้าใจลักษณะความพิการและความต้องการเฉพาะของนักศึกษาพิการ มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาพิการ เพื่อให้นักศึกษามีการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ นำไปสู่การผสานความแตกต่างระหว่างนักศึกษาพิการและนักศึกษาทั่วไป และการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเข้าใจ
นอกจากนี้ จากสถิติในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวน 178 คน โดยเป็นล่ามภาษามือที่มีการได้ยิน 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน และยังพบว่าทั่วประเทศ มีล่ามภาษามือ 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามือ 36 จังหวัด ปัจจุบัน ล่ามภาษามือมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมากที่สุด 3 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพ 69 คน นนทบุรี 28 คน และนครปฐม 16 คน จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลนของล่ามภาษามือ ในภาวะเช่นนี้ สถาบันราชสุดา ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ผลิตล่ามภาษามือในระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการผลิตล่ามภาษามือระดับประกาศนียบัตร จึงให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อร่วมดำเนินโครงการอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชนระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับภารกิจการมอบโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการ ผ่านการสร้างบุคลากรครูเพื่อผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน “พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ” ผู้จัดการ มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าสนับสนุนโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อให้คนพิการในสังคมไทยมีโอกาสทางการศึกษา ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา และสามารถมีอาชีพที่มั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพครูที่สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ในอนาคต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
โดยในการระดมทุนของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการและส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมนั้น โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันราชสุดา และมอบทุนการศึกษาให้แก่เหล่านักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ด้วยสถาบันราชสุดาเป็นสถาบันการศึกษาที่ส่งเสริมการศึกษาให้แก่คนพิการระดับอุดมศึกษา ช่วยสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านคนพิการและการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เพราะการมอบการศึกษาช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของคนพิการในประเทศไทย
ทั้งนี้ สถาบันราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล หรือเดิมมีชื่อว่า วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดขึ้นจากน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาคุณ พระมหากรุณาธิคุณและพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเชื่อในศักยภาพของคนพิการ ด้านการศึกษา พัฒนาอาชีพ และสามารถพึ่งตนเองได้ แต่สิ่งที่คนพิการส่วนใหญ่ยังขาดแคลนคือโอกาสทางการศึกษา จึงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับคนพิการ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยมีพระราชกฤษฎีกาประกาศการจัดตั้งวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2536 และในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2536 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารอำนวยการ วิทยาลัยราชสุดา จนกระทั่งปัจจุบันเป็นสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา เพื่อร่วมกันทำภารกิจสำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาบุคลากรกลุ่มวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านคนพิการให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย อีกทั้งช่วยสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขอบคุณ... https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000111441