“ภาวะสมองพิการ” ภัยเงียบของเด็กเล็ก

“ภาวะสมองพิการ” ภัยเงียบของเด็กเล็ก

ภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral Palsy เกิดจากสมองที่ได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุต่างๆ ในช่วงเด็กทารกหรือเด็กเล็ก ส่งผลให้มีพัฒนาการที่ล่าช้าโดยเฉพาะ ด้านกล้ามเนื้อ กระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคต จึงควรรีบพามารักษา ฝึกกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

นายแพทย์ศุภชัย เลาหพงศ์สมบูรณ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ภาวะสมองพิการ เป็นความผิดปกติของสมองที่เกิดจากสมองได้รับการบาดเจ็บอย่างถาวรในช่วงสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกาย การขยับแขนขา ลำตัว การทรงตัว ยืน เดิน ผิดปกติหรืออาจเดินไม่ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นมาแต่กำเนิด หรือตั้งแต่ช่วงทารก พบได้บ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด, น้ำหนักแรกคลอดน้อย, ภาวะขาดออกซิเจนในช่วงคลอด เป็นต้น

อาการของเด็กสมองพิการ จะสังเกตได้จากพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าในกลุ่มวัยเดียวกัน เช่น การชันคอ, พลิกตัว, นั่ง, คลาน, เดิน ชอบใช้แขนข้างใดข้างหนึ่งก่อนวัยอันควร เป็นต้น

ส่วนสาเหตุการบาดเจ็บของสมองเกิดได้ตั้งแต่ในระยะก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด

• ความเสี่ยงตั้งแต่อยู่ในครรภ์

มีการติดเชื้อของคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส โรคเริม โรคซิฟิลิส,การขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์, รกเกาะต่ำ, อุบัติเหตุที่ทำให้สมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ความเสี่ยงระหว่างคลอด

คุณแม่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด, มีปัญหาคลอดยาก, น้ำหนักแรกคลอดน้อย, มีภาวะเลือดออกในสมองหรือสมองขาดออกซิเจนในช่วงแรกเกิด, รกพันคอ, ติดเชื้อ, มีเลือดออกในสมองขณะคลอด

ความเสี่ยงหลังคลอด

เด็กอาจจะติดเชื้อหลังคลอด หรือ อุบัติเหตุกระทบกระเทือนศีรษะ, เนื้อสมองที่เจริญผิดปกติ, ภาวะตัวเหลือง, โรคทางพันธุกรรม

ภาวะสมองพิการแบ่งตามอาการทางระบบประสาทออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. โรคสมองพิการชนิดเกร็ง (Spastic cerebral palsy) พบได้มากที่สุดของเด็กสมองพิการทั้งหมดจะมีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะแขนหรือขา อาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งตัว เช่น ลำตัวและแขนขาเกร็งครึ่งซีก ขามีอาการเกร็งมากกว่าแขน ขาและแขนทั้งสองข้างมีอาการเกร็ง

2. โรคสมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ (Athetoid cerebral palsy) พบได้ประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กสมองพิการ จะมีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง ผิดรูป หรือบิดเกร็งไปมา ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ บางรายอาจมีคอเอียง ไหล่บิด มือเกร็ง ร่วมด้วย

3. โรคสมองพิการชนิดเดินเซ ( Ataxic cerebral palsy) พบได้น้อย มีปัญหาในการทรงตัว สมดุลร่างกายและการประสานงานของระบบต่าง ๆ รวมทั้งอาจมีอาการสั่นร่วมด้วย

4. โรคสมองพิการชนิดผสม ( Mixed cerebral palsy ) คือ มีภาวะสมองพิการมากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน

สำหรับการรักษาภาวะสมองพิการจะเป็นการรักษาด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย กุมารแพทย์สาขาประสาทวิทยา, กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม,กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ, กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนาการ,กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร, โสต ศอ นาสิกแพทย์, จักษุแพทย์, ประสาทศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด โดยจะเน้นการรักษาแบบฟื้นฟู เช่น กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด รวมไปถึงการรักษาด้วยยา เพื่อลดอาการเกร็ง กระตุ้นพัฒนาการและศักยภาพของเด็กสมองพิการ เพื่อสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคสมองพิการมีอาการหลายลักษณะ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูก โดยเฉพาะคุณแม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด หรือ น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากสงสัยว่ามีความผิดปกติ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อประเมินและรับการรักษาที่เหมาะสม

ขอบคุณ... https://shorturl.asia/INAGW

ที่มา: bangkok-today.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 31/10/2566 เวลา 11:34:20 ดูภาพสไลด์โชว์ “ภาวะสมองพิการ” ภัยเงียบของเด็กเล็ก