รพ.ศรีธัญญานำระบบใหม่ "เพียร์ ซัพพอร์ต" ดึงผู้ป่วยจิตเวชอาการดี ดูแลคนไข้ ลดอาการกำเริบ

รพ.ศรีธัญญา นำระบบใหม่ "เพียร์ ซัพพอร์ต" ใช้บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช แห่งแรกในไทย ดึงเอาผู้ป่วยจิตเวชด้วยกันที่อาการดีขึ้น มาเป็นเพื่อนเป็นพี่เลี้ยง ช่วยดูแลเพิ่มพลังใจผู้ป่วยจิตเวชด้วยกัน ลดเกิดอาการกำเริบซ้ำ ลดจำนวนผู้ป่วยใน รพ. สามารถอยู่ในชุมชนได้นานขึ้น เริ่มรุ่นแรกแล้ว 12 คน เตรียมขยายผลใช้ทั่วประเทศ

รพ.ศรีธัญญา

วันที่ (30 ส.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.ศรีธัญญาและศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 จังหวัดนนทบุรี ว่า รพ.ศรีธัญญา เป็นสถานพยาบาลหลักของกรมฯ ที่ให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชครบวงจรคือให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพอยู่ในที่เดียวกัน ไม่มีภาพลักษณ์ที่น่ากลัว สามารถสร้างความเข้าใจสังคมดีขึ้น จากการตรวจเยี่ยมพบว่ามีผลงานอยู่ในระดับน่าพอใจ ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคที่มีอาการทั่วไปและยุ่งยากซับซ้อนที่มาจากกทม.และเขตสุขภาพที่ 4 ปีละ 1 แสนกว่าคน มีผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลปีละ 5,000 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 50 เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท ( Schizophrenia) รองลงมาคือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว ( Bipolar ) และผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้เหล้า สารเสพติดอื่นๆซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า กรมฯ ได้วางเป้าหมายพัฒนา รพ.ศรีธัญญาให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช ขณะนี้ได้ปรับโฉมด้านโครงสร้าง โดยทำให้หอผู้ป่วยมีลักษณะคล้ายคลึงกับบ้านมากที่สุด ซึ่งจะเอื้อต่อสภาพจิตใจและการปรับตัวของผู้ป่วยดีขึ้น และได้นำการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชด้วยแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า "เพียร์ ซัพพอร์ต (Peer Support)" มาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศ เพื่อเพิ่มทางสว่างให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชได้ฟื้นตัวและกลับคืนสู่สุขภาวะหลังจากผ่านการบำบัดรักษาแล้ว โดยจัดหลักสูตรอบรมผู้ที่เคยป่วยทางจิตเวชและประสบผลสำเร็จในการรักษาและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สามารถทำประโยชน์ได้เข้ามาเป็นเพื่อนหรือเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือสนับสนุนแก่ผู้ป่วย เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ สร้างแรงจูงใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวางเป้าหมายชีวิต จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชเห็นวิธีการแก้ปัญหาอาการป่วยที่เกิดขึ้น เกิดความเชื่อมั่น มีความหวังและตัดสินใจรับผิดชอบชีวิตตนเองได้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดพลังใจและความมุ่งมั่นในการดูแลตัวเองให้กลับคืนสู่สภาวะปกติและทำบทบาทในสังคมได้

“ระบบฟื้นฟูดังกล่าวกำลังบูมมาก หลายประเทศนำมาใช้แล้วเช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง โดยที่สหรัฐอเมริกามีคนกลุ่มนี้ประมาณ 20,000 คน ทำให้การฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชได้ผลดี ลดจำนวนผู้ป่วยในที่นอนโรงพยาบาล ลดอาการกำเริบทางจิต ผู้ป่วยเผชิญปัญหาดีขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยมีความหวัง มีความพึงพอใจในชีวิต และให้ความร่วมมือในการรักษา ทำหน้าที่ในสังคมได้ดีอยู่ในชุมชนได้นานขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทุกโรคทั้งโรคจิตเวชทั่วไปและผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สารเสพติดทุกชนิดรวมทั้งเหล้าด้วย ระบบนี้จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชว่า เป็นโรคที่สามารถบำบัดอาการให้หายได้ อยู่ร่วมสังคมได้ โดยจะเร่งขยายผลใช้ในรพ.จิตเวชทั่วประเทศ”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ให้การรับรองหลักสูตรเพียร์ ซัพพอร์ตแล้ว ตามหลักสูตรนี้จะมีการอบรมทั้งทฤษฎีความรู้โรคจิตเวชต่างๆ และการฝึกทักษะในการดูแลผู้ป่วยจริง ใช้ระยะเวลา 4 เดือน เมื่อผ่านเกณฑ์จะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง โดยผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ามาเป็นเพียร์ฯ นั้น จะต้องมีคุณลักษณะดังนี้ คือ มีจิตอาสา สามารถควบคุมอาการป่วยตนเองได้อย่างดี หลังผ่านการอบรมแล้วจะทำหน้าที่ทั้งในชุมชนและในโรงพยาบาล เป็นกำลังสำคัญในระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชอีกกลุ่มหนึ่ง ขณะนี้ได้อบรมรุ่นแรก 12 คน อายุ 30-60 ปี เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อารมณ์ 2 ขั้ว จิตเภท ผ่านหลักสูตรไปแล้ว 8 คน ได้เริ่มทดลองปฏิบัติการแล้วที่ศูนย์บริการคนพิการทางจิตสายใยครอบครัวซึ่งอยู่ในรพ.ศรีธัญญา ศูนย์เสริมสร้างชีวิตเมืองทองธานี ซึ่งเป็นศูนย์ที่ผู้ป่วยตั้งขึ้นเอง และที่ศูนย์พัฒนาชีวิตผู้ป่วยจิตเวชบ้านสวนสายใยก้อนแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรพ.ศรีธัญญากับสมาคมสายใยครอบครัว โดยจะทำการประเมินผลในปลายปีนี้ เพื่อปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขอบคุณ... https://mgronline.com/Qol/detail/9600000089079

ที่มา: mgronline.comออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 30 ส.ค.60
วันที่โพสต์: 6/09/2560 เวลา 10:18:53 ดูภาพสไลด์โชว์ รพ.ศรีธัญญานำระบบใหม่ "เพียร์ ซัพพอร์ต" ดึงผู้ป่วยจิตเวชอาการดี ดูแลคนไข้ ลดอาการกำเริบ