นวัตกรรม 'หลอดเลือดสมอง' เพิ่มอัตราการรอด ลดความพิการ เสียชีวิต

นวัตกรรม 'หลอดเลือดสมอง' เพิ่มอัตราการรอด ลดความพิการ เสียชีวิต

กุญแจสำคัญในการลดผลกระทบต่อบุคคล สังคม และการเงินของโรคหลอดเลือดสมอง คือ ยิ่งรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้เร็วเท่าไร ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

นวัตกรรม หรือเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะโรคกลุ่มนี้หากตรวจพบเร็วแพทย์สามารถช่วยลดความรุนแรง ความพิการ หรือการเสียชีวิตของโรคได้

ฟิลิปส์ ได้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อป้องกัน ดูแล รักษาการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพของผู้ป่วยทั่วโลก

“โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก (Stroke)” แม้ส่วนใหญ่อาจจะเกิดในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันผู้ที่อายุน้อยกว่า 50 ปี สามารถพบได้มากถึง 15% ซึ่งหากพบในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 40 ปี จะจัดเป็นโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย หรือ stroke in the young

ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 15 ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหลักของความพิการและการเสียชีวิตอันดับสองของโลก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 40% ประสบกับความบกพร่องปานกลางถึงรุนแรง โดย 25% ประสบกับความบกพร่องเล็กน้อย

โดยการดูแลผู้ป่วยสโตรกต้องใช้ค่าใช้จ่ายประมาณ 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศไทย รายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมองแตก 21.13 % และในปี 2567 ที่ยังเก็บข้อมูลไม่ครบทั้งปี ก็พบว่า ตัวเลขสูงถึง 20.77 % ซึ่งหากผู้ป่วยสามารถไปถึงโรงพยาบาลได้เร็ว ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว สามารถลดความพิการ การเสียชีวิต ประหยัดค่าใช้จ่ายและนำเงินไปใช้กับการรักษาเยียวยาโรคมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ

นวัตกรรม 'หลอดเลือดสมอง' เพิ่มอัตราการรอด ลดความพิการ เสียชีวิต

สูงวัย-วัยทำงาน กลุ่มเสี่ยงสโตรก

“ศ.ดร.โบ นอร์วิง”ศาสตราจารย์อาวุโสด้านประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ประเทศสวีเดน และผู้ก่อตั้ง Swedish Stroke Register (Riksstroke) กล่าวในงาน “นวัตกรรมเพื่อการดูแลโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Care)” ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2025 ณ เมือง Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเมือง Barcelona ประเทศสเปน จัดโดยฟิลิปส์ โกลบอล ว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ขณะนี้กลุ่มวัยทำงานก็เป็นโรคดังกล่าวมากขึ้น และเกิดขึ้นได้ทั้งในครอบครัวยากจนหรือร่ำรวย โดยสิ่งที่แตกต่างกันคือ หากเกิดในครอบครัวยากจน จะมีความสูญเสียมากขึ้น เพราะไม่มีเงินซื้อยา อุปกรณ์ในการฟื้นฟูร่างกาย และอาจทำลายโครงสร้างครอบครัวได้

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดสมอง ตีบ อุดตัน หรือ หลอดสมองเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดโดยเฉพาะในกลุ่มสูงวัยที่มีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) อย่าง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคอ้วน และมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่าง การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และความเครียด การนำผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหลอดเลือดสมองพบแพทย์ ได้รับยาสลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชม.หรือ 270 นาที จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการฟื้นตัวเร็วขึ้น

“นวัตกรรม หรือเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วนั้น มีความจำเป็นอย่างมาก รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองตีบเป็นสิ่งสำคัญ และการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะโรคกลุ่มนี้หากตรวจพบเร็วแพทย์สามารถช่ลดความรุนแรง ความพิการ หรือการเสียชีวิตของโรคได้” ศ.ดร.โบ กล่าว

นวัตกรรม 'หลอดเลือดสมอง' เพิ่มอัตราการรอด ลดความพิการ เสียชีวิต

1 ใน 4 อายุ 25 ปีขึ้น ไปเสี่ยงสโตรก

“นพ.อทุล กุปตา”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการแพทย์ ฝ่ายการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ฟิลิปส์ โกลบอล กล่าวว่าทุก 2 วินาทีจะพบผู้ป่วยสโตรก แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ได้รับการรักษาที่จำเป็นเพื่อช่วยชีวิตได้ทันเวลา องค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization) ประมาณการณ์ว่ามีเพียง 5% ของผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก

นพ.อทุล กล่าวต่อว่าผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น และผู้ใหญ่ 1 ใน 4 คนที่มีอายุมากกว่า 25 ปีจะประสบกับโรคหลอดเลือดสมองอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งนั้นถือเป็นความท้าทายที่ไม่ใช่เพียงผู้ป่วยที่ต้องเผชิญ แต่ระบบทางการแพทย์ก็ต้องพัฒนานวัตกรรม หรือเครื่องมือ รวมถึงกระบวนการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพให้ทันเวลามากขึ้น

“กุญแจสำคัญในการลดผลกระทบต่อบุคคล สังคม และการเงินของโรคหลอดเลือดสมองคือการปฏิบัติตามคำพังเพยที่ว่า “เวลาคือสมอง” ยิ่งรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้เร็วเท่าไร ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากหากมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น ทั่วโลกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยตรงและโดยอ้อมอยู่ที่ประมาณ 891 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี”นพ.อทุล กล่าว

รักษาด้วยวิธีการทางหลอดเลือด

“ศ.ดร.วิม เอช. ฟาน ซวาม” รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีร่วมรักษาระบบประสาทที่ศูนย์การแพทย์ Maastricht University Medical Center กล่าวว่าสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมอง แต่ละปีอัตราการเกิดโรคทั่วโลกจะพบผู้ป่วย 15 ล้านราย / ปี และอัตราการเสียชีวิตทั่วโลก 6 ล้านราย / ปี โดย 87% จะเป็นการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งแนวทางในการรักษาหลอดเลือด (EVT) สำหรับโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันได้มีพัฒนาการดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน 1995 และปี 1999 ได้มีการทดลองการบำบัด มีการให้ยาละลายลิ่มเลือด และการผ่าตัดเอาลิ่มเลือดออก

“ตั้งแต่ปี 2015 มีผู้ป่วยได้รับประโยชน์จาก EVT มากขึ้น สามารถรักษาได้มากขึ้น ซึ่งการรักษาโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลันด้วยวิธีการทางหลอดเลือด เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาใหม่ที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะมีความคุ้มค่ามาก ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในหลายสถานการณ์ อีกทั้งขณะนี้มีการปรับปรุงเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด” ศ.ดร.วิม กล่าว

AI – เทคโนโลยี ลดพิการ เสียชีวิต

ด้าน พญ.คาร์ลา กูลาร์ต เปรอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการแพทย์ รอยัล ฟิลิปส์ กล่าวว่าฟิลิปส์ ได้ทำงานร่วมกับศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองชั้นนำ และองค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยทั่วโลก

พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรักษาให้กับผู้ป่วย โดยได้พัฒนาเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) ซึ่งมีจุดเด่นที่เทคโนโลยี AI และ Smart Speed ที่ช่วยให้สแกนได้เร็วขึ้น และได้ภาพคมชัดมากขึ้น

ส่วนด้านการวินิจฉัยมี Spectral CT 7500 และ SmartSpeed MR ช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดและรวดเร็ว ,Nicolab StrokeViewer ช่วยให้แพทย์อ่านผลวินิจฉัยและตัดสินใจรักษาได้รวดเร็วขึ้น โดยสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่สามารถประมวลผลได้จากภาวะหลอดเลือดโต (LVO) ลง ,Azurion Image Guided Therapy เครื่องสวนหลอดเลือดสมองที่ตอบสนองได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

นอกจากนั้น ยังมี Tempus ALS Monitor หรือเครื่องติดตามสัญญาณชีพสำหรับหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่สามารถส่งข้อมูลผู้ป่วยจากข้างนอกไปยังโรงพยาบาลแบบเรียลไทม์ ขณะที่กำลังเคลื่อนย้ายผู้ป่วยบนรถพยาบาล พร้อมแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรักษา, Telestroke Program ระบบให้คำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบทางไกล เพื่อช่วยผู้ป่วยในการวินิจฉัยและเพิ่มโอกาสในการได้รับยาละลายลิ่มเลือด (tPA) ได้ทันเวลา และ ePatch อุปกรณ์ตรวจจับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AFib) ตั้งแต่ระยะแรก ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1166305

ที่มา: bangkokbiznews.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 13 ก.พ. 68
วันที่โพสต์: 13/02/2568 เวลา 14:38:18 ดูภาพสไลด์โชว์ นวัตกรรม 'หลอดเลือดสมอง' เพิ่มอัตราการรอด ลดความพิการ เสียชีวิต