"โรคหายาก" มีอาการสมองพิการถาวร หูหนวกตั้งแต่กำเนิด
เกริ่นชื่อเรื่องมาแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนก็คงจะสงสัยว่า..มีชื่อโรคแบบนี้ด้วยหรือ?แล้วมีลักษณะอาการเป็นอย่างไร? เป็นโรคที่หายากเพราะอะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคหายาก? คอลัมน์หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพฉบับนี้มีคำตอบมาฝาก
“โรคหายาก” บางครั้งอาจเรียกว่า โรคกำพร้า (Orphan disease) เป็นโรคที่พบได้น้อย หรือมีความชุกของโรคต่ำกว่า ๑ ใน ๒,๕๐๐ คนของประชากร ซึ่งสามารถหายารักษาได้ยาก ตัวโรคก็ยังมีความรุนแรงด้วย ในปัจจุบันพบว่า มีผู้ที่เป็นโรคหายากทั่วโลกมากถึง ๘,๐๐๐ ชนิด และส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๘๐ มีสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคจากพันธุกรรม พบผู้ป่วยโรคหายากในเด็กร้อยละ ๕๐ และพบผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนอายุครบ ๕ ขวบ ได้มากถึงร้อยละ ๓๐ หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี อีกทั้งยังมีบางโรคที่อาจเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว
กลุ่มตัวอย่างของโรคหายาก ได้แก่ โรคมีกรดในเลือด ซึ่งพบได้ในทารกและเด็กเล็ก เริ่มมีอาการซึม กินไม่ได้ ไม่รู้ตัว น้ำตาลในเลือดต่ำ ตับโต มีกรดในเลือด หากรักษาไม่ทันจะทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังมีอาการสมองพิการถาวร การรักษาต้องใช้นมและยาพิเศษ โรคแอมโมเนียคั่งในเลือด พบได้ในทารกและเด็กเล็ก มีอาการซึม กินไม่ได้ อาเจียน โคม่า สมองบวม ตับโต อาการสมองพิการถาวร และการรักษาต้องใช้นมและยาพิเศษเช่นกัน โรคเอสแอลดี พบในทารกแรกเกิด ซึ่งทำให้หน้าตาเปลี่ยน ตับม้ามหัวใจโต ซีด เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ ปวดกระดูก มีพัฒนาการที่เคยปกติถดถอยลง รวมทั้งมีอาการหลากหลายมากขึ้นกับโรค เช่น โรคโกเชร์ โรคเอมพีเอส โรคพอมเพ ซึ่งบางชนิดมียารักษาได้ดี โรคพราเดอร์-วิลลี่ เกิดขึ้นในทารกทำให้หลับมาก ไม่ค่อยกิน น้ำหนักขึ้นน้อย ๖-๙ เดือนจึงจะเริ่มตื่นตัวดี จนทำให้กินไม่รู้จักอิ่ม ร่างกายจึงอ้วนผิดปกติ ส่งผลให้พัฒนาการและสติปัญญาล่าช้า โรคกล้ามเนื้อเสื่อมดูเชน พบในเด็กชายอายุ ๓-๕ ขวบ ที่เริ่มเดินได้ ขาปัด ล้มง่าย ทั้งที่เมื่อก่อนเคยวิ่งเล่นปกติ นั่งกับพื้นก็ไม่สามารถลุกขึ้นเองได้ ต้องใช้มือดันตัว มีน่องโต เดินเขย่ง หลังแอ่น เมื่ออายุ ๘-๙ ขวบ จะเดินเองไม่ไหว และอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โรคมาร์แฟน มักพบในเด็กโตรูปร่างสูง ผอม นิ้วยาว ข้อกระดูกบิดงอง่าย กระดูกหน้าอกบุ๋มและโป่ง กระดูกสันหลังคด สายตาสั้นมาก เลนส์ตาเคลื่อนหลุด ที่อันตรายคือ ความยืดหยุ่นของเส้นเลือดหัวใจผิดปกติ โรคสมองน้อยเสื่อมจากพันธุกรรม (โรคเดินเซ) อาการเริ่มในวัยผู้ใหญ่ เดินเซ เวลาก้าวเดินไม่มั่นคง ต้องกางขาเพื่อช่วยการทรงตัว เสียงพูดเปลี่ยนไป ดื่มน้ำแล้วสำลัก การใช้กล้ามเนื้อนิ้วและมือไม่สัมพันธ์กัน ลายมือเปลี่ยน บางรายมีตากระตุกไปมา อาการดำเนินไปอย่างช้า ๆ ใช้เวลาเป็นปี ๆ โรคเพรนเดร็ด มีอาการหูหนวกตั้งแต่กำเนิด บางรายมีการทรงตัวไม่ดี มีอาการต่อมไทรอยด์โตหรือคอพอกแบบไม่เป็นพิษ โรคโครโมโซมผิดปกติซึ่งมีความพิการแต่กำเนิดหลายอย่าง เช่น หน้าตาดูแปลก หัวใจพิการ ลำไส้อุดตัน ไตผิดปกติ การมองเห็นและการได้ยินผิดปกติ พัฒนาการสมองล่าช้า โรคแองเจลแมน เริ่มมีอาการหลังอายุ ๖-๙ เดือน โดยมีพัฒนาการช้า มีปัญหาในการเคลื่อนไหว เดินเซ ไม่มั่นคง มีปัญหาในการพูด มักจะยิ้มง่าย หัวเราะเก่ง อารมณ์ดี ตื่นเต้นง่าย ชอบตบมือ และสมาธิสั้น
ผู้ป่วยโรคหายากต้องได้รับการวินิจฉัยโดยเร็ว แม้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็ต้องได้รับการรักษาไปตลอดชีวิต หากได้รับการรักษาที่ดี ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคหายากก็คือ นมพิเศษ ยา และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ตามมาตรฐาน และเนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรมจึงต้องมีการป้องกันไม่ให้ตัวโรคเกิดซ้ำในครอบครัว แต่สิ่งสำคัญอื่นใดก็คือ กำลังใจ การดูแลรักษา การให้ความช่วยเหลือ การลดช่องว่าง และความเสมอภาคในการบริการรักษาสุขภาพของตัวผู้ป่วย ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดวันโรคหายากขึ้น หรือที่เรียกว่า วัน Rare Disease สากล โดยให้ถือว่าวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันโรคหายาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโรคนี้เป็นพิเศษ....โดย ศ.พญ.ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล หัวหน้าหน่วยเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล(เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๙ ก.พ.๕๖)