‘โรคหลายบุคลิก’ จำไม่ได้ว่าตัวเองทำอะไรลงไป

ภาพด้านหลังเด็กผู้หญิง

ตัวละครในภาพยนตร์หลายเรื่องต้องเผชิญชะตากรรมความกดดันอย่างแสนสาหัส บางเรื่องเล่าเหตุการณ์เงื่อนปมในวัยเด็ก บาดแผลในจิตใจที่ฝังรากลงลึกไปในระดับสามัญสำนึก ผลพวงจากความคับแค้นเหล่านั้นสะท้อนให้พฤติกรรมของตัวละครมีความผิดแผกไปจาก ความปกติในช่วงวัยรุ่นและลามไปถึงวัยผู้ใหญ่ วัยกลางคน

พฤติกรรมหนึ่งที่ภาพยนตร์มักสะท้อนให้เห็น คือพฤติกรรมของตัวละคร ที่ห้วงเวลาหนึ่งมีบุคลิกหนึ่ง ห้วงเวลาต่อมากลับกลายเป็นบุคคลอีกคนหนึ่ง ในกรณีนี้ทางจิตเวชสะท้อนถึงอาการป่วย โรคหลายบุคลิก Dissociative Identity Disorder (DID) หรือ Multiple Personality Disorder (MPD) เป็นโรคที่ถูกจัดอยู่ในประเภท Dissociative Disorder ซึ่งโรคในกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสติสัมปชัญญะ ความทรงจำ เอกลักษณ์ และการรับรู้สภาวะแวดล้อม

ลักษณะของผู้ป่วย คือ จะมีบุคลิกที่เป็นนิสัยตั้งแต่ 2 บุคลิกขึ้นไป โดยแต่ละบุคลิกจะมีการ “ผลัดกันออกมา” และบุคลิกแต่ละบุคลิกจะมีลักษณะเฉพาะ มีชื่อ ประวัติความเป็นมา รวมไปถึงนิสัยที่ต่างกันไปในแต่ละคน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในยามที่อยู่ในบุคลิกเดิม จะ “จำไม่ได้” ว่ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างที่บุคลิกอื่นออกมา ในขณะที่บุคลิกอื่นที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่มักจะรู้และจำได้ว่ามีบุคลิกเดิม อยู่

โรคหลายบุคลิกมักพบในเพศหญิง และจะพบบ่อยครั้งในผู้ที่มีประวัติถูกทารุณกรรมทางเพศในช่วงวัยเด็ก ส่งผลให้บุคลิกหลักหรือบุคลิกเดิมของผู้ป่วยที่เป็นคนอ่อนแอ ซึมเศร้า และขี้หวาดระแวง ถูกคลุมทับด้วยบุคคลใหม่ที่ผู้ป่วยอยากเป็นและอยากทำ (ซึ่งเป็นและทำไม่ได้ในบุคลิกเดิม) ขึ้นมา โดยบุคลิกเหล่านั้นจะแสดงออกมาเมื่อบุคลิกเดิมเกิดความกังวล หรืออยู่ในสถานการณ์ที่บุคลิกเดิมไม่สามารถรับมือได้

โรคหลายบุคลิกเป็นโรคเรื้อรังและอาการจะกำเริบเป็นช่วงๆ เมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาวะกดดันและจะทุเลาลงเมื่ออายุเลย 40 ปีไปแล้ว

สำหรับอาการของโรคหลายบุคลิกสังเกตได้โดยง่าย อาทิ 1.ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น เรียกร้องให้ผู้อื่นปรับตัว 2.เอาแต่ใจตัวเอง3.ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาคิดว่าคนอื่นมีปัญหา 4.ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และ 5.มีปัญหาทางอารมณ์ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวไม่ดี

บุคลิกภาพผิดปกติประเภทต่างๆ แสดงออกอย่างมากมาย โดยทั้งหมดมีชื่อเฉพาะและอาการจำเพาะ ตัวอย่างเช่น 1.บุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง 2.บุคลิกภาพผิดปกติแบบแยกตัว 3.บุคลิกภาพผิดปกติแบบแปลกแยก 4.บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (แบบอันธพาล) 5.บุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย 6.บุคลิกภาพผิดปกติแบบหลงตัวเอง 7.บุคลิกภาพผิดปกติแบบพึ่งพิงผู้อื่น 8.บุคลิกภาพผิดปกติแบบย้ำคิดย้ำทำ 9.บุคลิกภาพผิดปกติแบบหลบเลี่ยงปัญหา 10.บุคลิกภาพผิดปกติแบบไม่มีวุฒิภาวะ (เด็กไม่โต) 11.บุคลิกภาพผิดปกติแบบผสม และ 12.บุคลิกภาพผิดปกติแบบไม่อาจจัดกลุ่มได้

สาเหตุของโรคบุคลิกภาพผิดปกติ ประกอบด้วย การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกต้อง การเผชิญปัญหาในชีวิตที่ทำให้การเรียนรู้ผิดไปจากเด็กทั่วไป ปัจจัยทางพันธุกรรม การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม โรงเรียน และเพื่อน การรักษา

โรคหลายบุคลิกสามารถรักษาได้โดยใช้วิธีจิตบำบัด หรือสะกดจิต โดยให้ผู้ป่วยได้ระบายในสิ่งที่ไม่สามารถบอกใครได้จนเป็นสาเหตุให้เกิดการ เบี่ยงเบนพฤติกรรมจนกลายเป็นสร้างบุคลิกต่างๆ ขึ้นมา.....โดยธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ขอบคุณ http://www.posttoday.com/ไลฟ์สไตล์/สุขภาพ-ความงาม/257931/‘โรคหลายบุคลิก’-จำไม่ได้ว่าตัวเองทำอะไรลงไป

( โพสต์ทูเดย์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 9 พ.ย.56 )

ที่มา: admin
วันที่โพสต์: 12/11/2556 เวลา 04:28:14 ดูภาพสไลด์โชว์ ‘โรคหลายบุคลิก’ จำไม่ได้ว่าตัวเองทำอะไรลงไป