ภาวะเลือดออกในสมอง เสี่ยง "พิการ-เสียชีวิต" แนะเช็กสัญญาณเสี่ยง เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

ภาวะเลือดออกในสมอง เสี่ยง "พิการ-เสียชีวิต" แนะเช็กสัญญาณเสี่ยง เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นภาวะฉุกเฉินทางระบบประสาท ข้อมูลกรมการแพทย์พบอัตราการเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกในสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แนะนำการดูแลและการป้องกัน เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและความพิการ

ภาวะเลือดออกในสมอง สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาจมีสาเหตุแตกต่างกันไปตามช่วงวัย โดยผู้ป่วยอายุน้อย สาเหตุที่พบ มักเกิดจากสาเหตุของหลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดผิดปกติ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ จนเมื่อเกิดปัญหาหลอดเลือดแตก จึงมีอาการทางระบบประสาทเกิดขึ้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้เป็นเวลานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดเซาะ ฉีกขาด ทำให้หลอดเลือดสมองแตกได้ในที่สุด ทำให้เกิดมีเลือดออกในสมอง เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้

-ส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใด แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ความรู้สึกตัวผิดปกติ พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง

-อาการทางระบบประสาทขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เลือดออก

-หากมีเลือดออกที่สมองน้อย แต่เป็นบริเวณของสมองที่ทำหน้าที่สำคัญในการประมวลการรับรู้และการควบคุมการสั่งการ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเซ ทรงตัวลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งดูแล้วอาจจะคล้ายคนเมาได้

โดยอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองค่อนข้างสูง จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดในสมองแตก ร้อยละ 21.13 ขณะที่ข้อมูลในปี 2567 ที่ยังเก็บข้อมูลไม่ครบทั้งปี แต่พบว่าแนวโน้มตัวเลขสูงถึงร้อยละ 20.77

สำหรับแนวทางการรักษา จะขึ้นกับตำแหน่งและปริมาณของเลือดที่ออก หากมีเลือดออกปริมาณเล็กน้อย อาจจะให้การรักษาแบบประคับประคองและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ แต่หากเลือดออกในปริมาณมาก อาจจะมีความจำเป็นต้องผ่าตัดระบายเลือดออก และลดความดันในกะโหลกศีรษะ แต่หากสาเหตุของเลือดออกเกิดจากหลอดเลือดผิดปกติ หรือหลอดเลือดโป่งพอง แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดเพื่อปิดทางเดินหลอดเลือดที่ผิดปกติ หรืออาจจะต้องรักษาด้วยหลากหลายวิธีร่วมกัน

ภาวะเลือดออกในสมอง เสี่ยง "พิการ-เสียชีวิต" แนะเช็กสัญญาณเสี่ยง เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

การป้องกัน ที่สำคัญที่สุด

-ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ควรตรวจรักษาและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีตลอด

-และเมื่อมีอาการที่สงสัย เช่น พูดลำบาก ปากตก แขนขาอ่อนแรง เดินเซที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ให้ไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

-หากรู้อาการ ไปโรงพยาบาลเร็ว จะมีโอกาสรอดชีวิตและจะลดความเสี่ยง อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้

ที่มาข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : ทีมกราฟิก TNN

ขอบคุณ... https://www.tnnthailand.com/news/social/171344/

ที่มา: tnnthailand.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 26 ก.ค.67
วันที่โพสต์: 26/07/2567 เวลา 13:50:03 ดูภาพสไลด์โชว์ ภาวะเลือดออกในสมอง เสี่ยง "พิการ-เสียชีวิต" แนะเช็กสัญญาณเสี่ยง เพิ่มโอกาสรอดชีวิต