ทำความรู้จักกับ “โรครูมาตอยด์” (ตอน 1)

ทำความรู้จักกับ “โรครูมาตอยด์” (ตอน 1)

อาการปวดข้ออักเสบเรื้อรัง หากเกิดขึ้นกับใครแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ย่อมส่งผลให้อาการปวดข้อนั้นอาจนำไปสู่ข้อพิการ ข้อติดยึด เคลื่อนไหวร่างกาย และทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ลำบาก เราจึงควรทำความรู้จัก “โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid)” นี้กันให้มากขึ้น

“โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid)” คืออะไร

โรครูมาตอยด์ เป็นกลุ่มอาการที่มีการอักเสบเรื้อรังของข้อต่างๆ ในร่างกาย โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกข้อ ซึ่งข้อที่เกิดการอักเสบแล้วไม่น่าจะใช่รูมาตอยด์ เช่น กระดูกสันหลังส่วนกลาง ข้อกระเบนเหน็บ เป็นต้น

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรครูมาตอยด์ที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ทั้งการศึกษาในทางคลินิกและในห้องปฏิบัติการ พบว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมมีบทบาทในการที่จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรครูมาตอยด์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคได้ เช่น การสูบบุหรี่ การติดเชื้อเรื้อรังที่ไม่รุนแรงมาก เช่น การติดเชื้อในช่องปาก การติดเชื้อในลำไส้ หรือการติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง เป็นๆ หายๆ เช่น การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ชัดเจนในอดีตกระตุ้นภูมิที่ผิดปกติของคนไข้ที่มีอยู่แล้วจากการที่มีพันธุกรรมเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น และแสดงอาการเริ่มต้นด้วยการมีข้ออักเสบ

อาการ

เริ่มจากอาการปวดบวม ปวดตามข้อต่างๆ ซึ่งข้อที่มักจะเริ่มมีอาการก่อนคือ ข้อนิ้วมือ ข้อมือ มักมีอาการทั้งสองข้างเท่าๆ กัน โดยอาการจะชัดเจนในช่วงเช้าหรือหลังจากที่คนไข้ไม่ได้ขยับข้อมาระยะหนึ่ง เช่น ช่วงกลางคืน ทำให้มีอาการตอนเช้าค่อนข้างมาก หรือในคนไข้ที่มีอาการรุนแรง การนั่งรถนานๆ หรือขับรถนานๆ เมื่อเริ่มขยับตัว ก็จะมีอาการปวดในช่วงแรกๆ แต่เป็นมากขึ้น อาการข้อบวมก็จะชัดขึ้น ไปจนถึงเกิดความพิการของข้อ เกิดข้อติดยึด และทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

นอกจากนี้ คนไข้บางรายอาจไม่มีอาการปวดข้อเลย แต่มีพังผืดในปอด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เยื่อบุตาขาวอักเสบเรื้อรัง ม่านตาอักเสบเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้พบน้อยได้มาก ประมาณ 5-10%

อันตรายและความรุนแรงของโรค

คนไข้จะมีอาการปวดอักเสบของข้อ ส่งผลให้การทำกิจวัตรประจำวัน การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ลำบาก และถ้าอาการปวดมีความรุนแรงจนทำให้ต้องลางานเนื่องจากความปวด ก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในกรณีที่เกิดอาการแล้วไม่มาพบแพทย์จนทำให้ข้อติดพิการ ก็มีบ้างเล็กน้อย และพบมากขึ้นในพื้นที่ที่การรักษาเข้าไม่ถึง คนไข้ก็จะมาพบแพทย์ด้วยอาการข้อติด ข้อไหล่ ข้อมือติด เข้าเข่าติด เป็นต้น

ส่วนอาการอื่นๆ นอกเหนือจากอาการปวดข้อดังที่กล่าวไปข้างต้น เป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่หากเกิดขึ้นแล้วรักษาไม่หาย รวมถึงการทำลายของข้อก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้เช่นกัน หากคนไข้มาพบแพทย์ในระยะเวลาเหล่านี้ จะไม่สามารถทำให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้

อุบัติการณ์เกิดโรคข้างเคียง เช่น

มะเร็ง พบว่าโรครูมาตอยด์สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้มากกว่าคนปกติได้ถึง 3 เท่า

ภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากมีการกระตุ้นการอักเสบอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นการกระตุ้นเซลล์ที่สร้างเซลล์และทำลายกระดูกให้ทำงานเร็วขึ้น ประกอบกับคนไข้ที่มีอายุมาก ทำให้การเสริมสร้างกระดูกขึ้นมาไม่ทัน ทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง

ภาวะโรคหลอดเลือดอุดตัน ทั้งโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ พบมากในคนไข้ที่เข้ารับการรักษาช้า ซึ่งจากการเก็บข้อมูลคนไข้รูมาตอยด์ประมาณ 10 ปี คนไข้ที่คุมอาการไม่ดี และเกิดการอักเสบในเลือดสูง หรือพบสารรูมาตอยด์ในเลือดซึ่งพยากรณ์โรครุนแรง คนไข้กลุ่มนี้จะมีความอุดตันของหลอดเลือดมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 3-5 เท่า

การวินิจฉัย

ส่วนใหญ่คนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดข้อ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ซึ่งมีอาการมาประมาณ 4-5 เดือน และมีคนไข้ที่มีอาการรุนแรงในช่วงเดือนแรก ทำให้มาพบแพทย์เร็วขึ้น ซึ่งมีประมาณ 30%

----------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

ผศ.พญ.ปารวี ชีวะอิสระกุล

สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/society/1605050

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 5 ก.ค.62
วันที่โพสต์: 5/07/2562 เวลา 10:48:31 ดูภาพสไลด์โชว์ ทำความรู้จักกับ “โรครูมาตอยด์” (ตอน 1)