น้ำใจ "ทีมแพทย์ไทย-สหรัฐฯ" ช่วยผู้ป่วยยากไร้ในถิ่นห่างไกล
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คณะแพทย์และพยาบาลไทยในสหรัฐอเมริกา ได้จัดโครงการประชุมวิชาการ เพื่อนำวิทยาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีทางการแพทย์มาให้ความรู้แก่แพทย์และพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งจัดโครงการมารักษาผู้ป่วยยากไร้ด้วย
แต่ละปีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากมายด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากที่จะเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ ประกอบกับบุคลากรทางการแพทย์เองก็มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ คณะแพทย์ไทยในสหรัฐฯ จึงได้ประสานคนไทยในต่างแดนรวมทั้งแพทย์ไทยและแพทย์ชาวต่างชาติมาช่วยกันรักษาผู้ป่วย
ปีนี้ โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ต.ไร่น้อย อ.เมืองอุบลราชธานี ได้ร่วมจัด โครงการแพทย์พยาบาลอาสาสหรัฐอเมริกา ตรวจรักษาและผ่าตัดให้กับพระภิกษุสามเณร และประชาชนที่อยู่ห่างไกล
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมทั้งเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 24-28 มิ.ย.2562 มีประชาชนไปรับการรักษาเป็นจำนวนมาก
นพ.เศวต ศรีศิริ ผอ.โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ โดยพระราชานุญาต โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ และ กลุ่มแพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา
เนื่องจากทางโรงพยาบาลพบว่ามีคนไข้เจ็บป่วยด้วย โรคตา ความพิการแขนขา ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งเป็นความพิการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การประกอบอาชีพและการช่วยเหลือตัวเองมีปัญหา โดยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีมากขึ้น
จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยังแพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา พร้อมจัดโครงการเพื่อที่จะดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้กลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ชั้นสูง ซึ่งอาจเกินศักยภาพแพทย์ไทยที่สามารถทำได้
อีกทั้งยังเป็นความร่วมมือด้านวิชาการทางการแพทย์ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน พร้อมมีการถ่ายทอดความรู้ จัดเวิร์กช็อปเพื่อให้แพทย์ไทยได้เกิดความคุ้นเคยและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน นพ.เชิดเกียรติ แสงคำ แพทย์ผู้ชำนาญการทางด้านโรคหัวใจและระบบเส้นเลือด จาก เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ในฐานะประธานโครงการ Medical Mission Chairman Of Board Director Thai–American Association Of Ilinois เปิดเผยให้ทราบว่า...
ด้วยความศรัทธาต่อ พระพรหมวชิรญาณเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะประธาน มูลนิธิโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ และสำนึกในบุญคุณต่อประเทศชาติและเป็นการทดแทนคุณแผ่นดิน จึงร่วมกับ สมาคมไทย–อเมริกาแห่งรัฐอิลลินอยส์, สมาคมพยาบาลไทยแห่งรัฐอิลลินอยส์ คณะแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร และมวลชนจากเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์และอินเดียนา สหรัฐอเมริกา จัดโครงการนี้ขึ้น
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ครั้งนี้มีทีมแพทย์ที่เดินทางมาจากอเมริกา จำนวน 14 คน และพยาบาลพร้อมจิตอาสารวม 50 คน มาทำการรักษาผ่าตัดโรคต้อกระจกโดยการเปลี่ยนเลนส์เทียมประมาณ 400 ราย
ผู้ป่วยที่มีความพิการทางมือ เช่น ไขข้ออักเสบอย่างรุนแรง ความพิการทางมือที่มีมาตั้งแต่กำเนิด แผลเป็นจากการถูกน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ ประมาณ 50 ราย และผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ประมาณ 10 ราย
ขณะเดียวกันยังมีการจัดประชุมวิชาการทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง จัดประชุมวิชาการรวมทั้งภาคปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ในการทำงานด้านการแพทย์ระหว่างคณะแพทย์และพยาบาลจากสหรัฐอเมริกา และจากประเทศไทย
นอกจากนี้ยังเดินทางไปจัดกิจกรรมแจกอุปกรณ์การเรียนและเครื่องแต่งกาย เลี้ยงอาหารกลางวันแก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่โรงเรียนบ้านกุ่ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นการสนับสนุนให้เด็กๆมีโอกาสทางการศึกษา โดยมี นายเอนก บรรณประดิษฐ์ นายกสมาคมไทย-อเมริกันแห่งรัฐอิลลินอยส์ เป็นผู้ระดมทุนในการสนับสนุนกิจกรรม
ขณะที่ นพ.พรชัย สิมะโรจน์ จักษุแพทย์ รพ.รามาธิบดี อีกหนึ่งแพทย์ที่เข้าร่วมผ่าตัดโรคต้อกระจก เผยว่า โครงการนี้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่รอเข้ารับการรักษาตามระบบของโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ห่างไกล เนื่องจากการรักษาตามปกติของโรงพยาบาลมีแพทย์ไม่เพียงพอต่อโรค
“หากรักษาตามระบบเช่นที่โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มีจักษุแพทย์ 2 คน คนหนึ่งต้องตรวจ อีกคนผ่าตัดเฉลี่ยปีหนึ่งรักษาได้ 300-400 ราย แต่โรคนี้เป็นโรคของผู้สูงอายุ จะพบ 10% ของอัตราประชากร เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น สามารถผ่าตัดได้ 80-100 รายต่อวัน ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยที่รอรับการรักษาลง และยังช่วยให้ลดความรุนแรงของโรค เพราะบางรายปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้ตาบอดได้” นพ.พรชัย กล่าว
โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดจากจิตสำนึกของแพทย์และพยาบาลไทยในสหรัฐอเมริกา ที่มีต่อประเทศไทยแผ่นดินเกิด.
ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/local/1603088
ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 30 มิ.ย.62