เปิด "วัคซีน" ที่วัยเก๋าควรฉีด ลดเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ชี้ฉีดวัคซีน "ผู้สูงอายุ" ช่วยลดความรุนแรง นอน รพ. และเสียชีวิตได้ แต่อัตราการฉีดวัคซีนยังน้อย แนะครอบครัวให้ความสำคัญ ย้ำ "วัยเก๋า" ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม บาดทะยัก คอตีบ และงูสวัด
วันนี้ (21 พ.ค.) ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสังคมผู้สูงอายุ : วัคซีนที่ต้องฉีด ว่า การติดเชื้อในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง หรือป่วยเป็นมะเร็ง เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข เพราะจะมีอาการรุนแรงและต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรืออาจเสี่ยงต่อความพิการหรือเสียชีวิตได้ การป้องกันโดยการฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บป่วย และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งหลายประเทศมีการสนับสนุนวัคซีนในผู้สูงอายุและคนเจ็บป่วยเรื้อรัง แต่ประเทศไทยอยูในอัตราที่ต่ำ อาจมาจากแพทย์และผู้สูงอายุไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันโรค ดังนั้น คนในครอบครัว คือ จุดเริ่มต้นที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้านป้องกันโรคติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีน สังคมสูงอายุก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนที่แพทย์ควรพิจารณาสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญและพบเป็นสาเหตุที่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือป่วยหนักทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต และวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่พบได้ในผู้สูงอายุ เช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ วัคซีนป้องกันงูสวัด ทั้งนี้ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้จัดทำโปรแกรม “สถานเสาวภา” เพื่อให้แพทย์และประชาชนรับรู้ถึงวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ว่าควรได้รับการฉีดวัคซีนใดบ้าง ซึ่งสามารถเข้าใช้ได้โปรแกรมได้โดยผ่านทาง QR Code หรือ http:medschedule.md.chula.ac.th/vaccine
"โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการหายใจหรือการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อ โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือหญิงตั้งครรภ์ อาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ การป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำได้โดยรักษาอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือและฉีดวัคซีน ลดภาวะแทรกซ้อน การรักษาตัวในโรงพยาบาลจากปอดบวมและลดการเสียชีวิต โดยควรฉีดปีละ 1 ครั้งทุกปี และฉีดวัคซีนแก่บุคคลใกล้ชิดผู้สูงอายุหรือกลุ่มโรคเรื้อรัง เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อได้" ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าว