มารู้จัก โรคซึมเศร้า แล้วลองมาเช็คตัวคุณเองสิว่า เป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า

หญิงสาวมีอาการซึมเศร้า

จากข่าวนักร้องนำวง Linkin Park เชสเตอร์ เบนนิงตัน ฆ่าตัวตาย เนื่องจากป่วยด้วยโรคซึมเศร้า รวมถึงมือกีร์ต้าวง สควีซ แอนิมอล อย่าง สิงห์ ประชาธิป มุสิกพงศ์ ซึ่งได้จากโลกนี้ด้วยโรคนี้เช่นกัน ทำให้หลายคนกลับมามองตัวเอง ว่าเราเข้าข่ายหรือป่วยเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับโรคซึมเศร้ากันค่ะ

โรคซึมเศร้า เป็นโรคเรื้อรังและพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย พบประมาณ 350 ล้านคนทั่วโลก โดยมีความชุกอยู่ที่ร้อยละ 2-10 ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย สำหรับประเทศไทย โรคซึมเศร้าเป็นอันดับที่ 3 ในผู้หญิง และเป็นอันดับ 8 ในผู้ชาย โดยในปี 2557 กรมสุขภาพจิตมีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงถึง 12 ล้านคน พบมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 6 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย 6 แสนคน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า 5 แสนคน แต่คาดการณ์ว่าคนไทยน่าจะมีภาวะซึมเศร้าราว 1.2 ล้านคน โดยประชากรไทยมีโอกาสป่วยราว 2.3%

สาเหตุ โรคซึมเศร้า

1. การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ

2. หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติของท่าน ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ไม่ใช่ทุกคน

3. ความเครียดง่ายๆ เป็นการกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้

4. โรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์

5. สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้า

อาการ โรคซึมเศร้า

1. มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า

2. มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)

3. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก

4. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก

5. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป

6. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง

7. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

8. รู้สึกตนเองไร้ค่า

9. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด

10. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

ซึ่งต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ

การรักษา โรคซึมเศร้า

1.หากมีอาการมาก แพทย์จะรักษาด้วยยาแก้เศร้า โดยตัวจะยาจะช่วยให้ผู้ป่วยหายเครียด กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และพบกว่า 8-9 คนหายป่วยด้วยโรคนี้

2. หากมีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ ในมุมมองใหม่ ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายความกังวลยามจำเป็น

3. การรักษาด้วยยา จะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะเห็นผล และต้องได้รับขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น

4. หากมีอาการรุนแรง ไม่อยากทานอาหาร อยู่นิ่งๆ คิดอยากฆ่าตัวตาย แพทย์จะต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยยา

1. ปากคอแห้ง

2. ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก

3. มีปัญหาขณะร่วมเพศได้บ้าง

3. ตาพร่ามัว

4. เวียนศีรษะ

5. ง่วงนอน

6. คลื่นไส้

ตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า?

อาการข้างต้นของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งตัวคุณเองสามารถสังเกตได้ มีดังนี้

1. มักจะมีความคิดไปในทางลบตลอด

2. มักไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนใจหรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก

3. มักจะมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวล อยู่ตลอดเวลา

4. นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือนอนมากเกินไป

จากทั้งหมดที่กล่าวมา หากคิดว่าตัวเองกำลังมีอาการของโรคซึมเศร้า ควรรีบไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับยามารับประทานและบำบัดจิตใจ ก่อนจะลุกลามจนกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก mahidol.ac.th, psu.edu และ thaihealth.or.th

ขอบคุณ... https://goo.gl/JLY5Fm (ขนาดไฟล์: 0 )

ที่มา: thaiticketmajor.comออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 24 ก.ค.60
วันที่โพสต์: 27/07/2560 เวลา 10:44:46 ดูภาพสไลด์โชว์ มารู้จัก โรคซึมเศร้า แล้วลองมาเช็คตัวคุณเองสิว่า เป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า