เช็คด่วน!อารมณ์ขึ้น-ลงง่าย ป่วยจิตเวชโรคหลายบุคลิก?
สังเกตคนรอบข้างให้ดี!! ใครอารมณ์รุนแรง-เงียบขรึม-เด็กน้อย ในร่างเดียว ป่วยเป็นโรคหลายบุคลิกภาพในกลุ่มจิตเวช? ต้องอ่าน!! ใครเคยเห็นคนรอบข้างมีอารมณ์เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้ายบ้าง? และเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนๆ นั้นถึงมีหลายบุคลิกภาพ เช่น เดี๋ยวเป็นเด็ก เดี๋ยวเป็นผู้ใหญ่ แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร และจะเรียกว่า เป็นโรคจิตหรือเปล่า? สัปดาห์นี้มีคำตอบ
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ รพ.ศรีธัญญา และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ไขสงสัยว่า จริงๆ แล้วคนที่มีหลายบุคลิกภาพในร่างเดียวนี้มีชื่อโรคว่า “Dissociative identity disorder” หรือบางคนอาจเรียกว่า “multiple personality disorder” เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช พบความชุกร้อยละ 1.5 ต่อปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 5-9 เท่า มักพบในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ใหญ่ตอนต้น
สาเหตุนั้นพบว่าร้อยละ 85-97 มีประวัติเรื่องเคยมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก อาจเป็นการถูกทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางเพศ มีความทรงจำที่เลวร้ายและไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะจัดการกับความรู้สึกแย่ๆ นั้น อาจสร้างอีกหนึ่งบุคลิกหรืออีกคนขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงบาดแผลทางใจในวัยเด็ก สำหรับอาการที่สามารถสังเกต ได้แก่ ผู้ป่วยจะมีบุคลิกภาพอย่างน้อย 2 แบบ ซึ่งแต่ละบุคลิกจะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และผลัดกันออกมาไม่ได้ออกมาพร้อมกัน แต่ละบุคลิกภาพจะมีนิสัยใจคอเฉพาะตัว ลักษณะท่าทางความคิด รวมถึงชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
แต่บางคนก็อาจมีมากกว่า 2 บุคลิกภาพ โดยมีได้มากถึง 150 บุคลิกภาพในคนๆ เดียวกัน และแต่ละบุคลิกภาพก็มีความแตกต่างด้านมุมมอง เพศ นิสัยใจคอ การรับรู้ต่อสิ่งรอบตัว หรือแม้กระทั่งอาจมีความแตกต่างทางด้านศาสนาด้วย
ช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะบุคลิกเดิมนั้นมักไม่ตระหนักว่าตนเองมีบุคลิกภาพอื่นเกิดขึ้น และจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะมีบุคลิกภาพอื่นไม่ได้ แต่บุคลิกภาพที่ 2 อาจจำได้ว่าบุคลิกภาพเดิมเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ซึ่งบุคลิกภาพใหม่มักเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด และพบว่าบุคลิกภาพเดิมมักมีลักษณะอ่อนแอ สมยอม ซึมเศร้า โดยบุคลิกนี้มักเป็นบุคลิกที่มาพบแพทย์ ส่วนบุคลิกภาพอื่นมักตรงกันข้าม เช่น ก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเอง พยายามควบคุมบุคลิกภาพอื่นๆ
“โรคหลายบุคลิกภาพ” นี้มักเป็นเรื้อรังหรืออาจกำเริบเป็นช่วงๆ ขึ้นกับภาวะความกดดันที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ทั้งนี้ต้องแยกจาก “โรคทางสมอง” เช่นลมชักและโรคจิตเวชอื่นด้วย เช่น โรคทางอารมณ์ ซึ่งโรคทางอารมณ์จะเกิดอารมณ์ที่หดหู่หรือมีอารมณ์หงุดหงิดหรือคึกกว่าปกติ แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนบุคลิกและไม่มีการลืมความทรงจำช่วงไหนไป
การรักษาหลัก คือทำจิตบำบัด เช่น การแยกบุคลิกภาพที่ซ่อนออกมาทั้งหมด พยายามหาบุคลิกภาพหรือตัวตนที่แท้จริงเพียง 1 เดียว หรือใช้การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม รวมถึงมีการใช้ยา ซึ่งอาจใช้ยาแก้ซึมเศร้าและยาคลายกังวลในกรณีที่มีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลร่วมด้วย ซึ่งหลายกรณีหากได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ไม่มีอาการได้
ส่วนอีกโรค คือ “ไบโพลาร์” (Bipolar) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ที่คนไทยมักเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน 2 บุคลิกภาพ แต่จริงๆ แล้วเป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง อยู่กลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้า ต้องได้รับการักษาเช่นกัน เพราะหากปล่อยไว้จนซึมเศร้ารุนแรงอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ เห็นไหมว่า “โรคทางจิตเวช” กับ “โรคทางอารมณ์” แตกต่างกัน ฉะนั้นใครที่อารมณ์ขึ้น-ลงบ่อยๆ หรือคนรอบข้างเห็นคนใกล้ชิดมีความผิดปกติทางด้านบุคลิกภาพ ควรช่วยกันสังเกตและพากันไปรับการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดการสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น!!