คืนผู้ป่วย "ออทิสติก” 3 แสนคนสู่สังคม
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จ.สมุทรปราการ และติดตามปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานจัดบริการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชในปี 2560 ว่า จากรายงานพบว่างานมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้นอกจากมีความเชี่ยวชาญรักษาโรคจิตเวชเด็กทุกโรคแล้ว ยังมีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านการดูแลเด็กที่เป็นโรคออทิสติก (Autistic) มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกและเป็นศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการเยี่ยมเยียนจากองค์การอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี พัฒนามาตรฐานเครือข่ายการจัดบริการดูแลโรคจิตเวชในเด็กและวัยรุ่นรวมทั้งออทิสติกในเขตสุขภาพทั่วประเทศ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับโรคออทิสติกนี้ เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เด็กจะมีร่างกายปกติ สมองปกติ แต่มีปัญหาการสื่อสาร พฤติกรรมและอารมณ์ ผลการสำรวจล่าสุดในปี 2557 พบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคออทิสติกประมาณ 300,000 คน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 5 เท่าตัว ในปี 2560 นี้ กรมสุขภาพจิตได้เน้นการเข้าถึงบริการรักษาและกระตุ้นแก้ไขพัฒนาการและปรับพฤติกรรม โดยใช้มาตรการตรวจคัดกรองหาเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่มีลักษณะของเฉพาะของโรคนี้ คือ ไม่สบตา ไม่พาที และไม่ชี้นิ้ว เพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งจะให้ผลดีมากหากพบผู้ป่วยได้เร็ว ในภาพรวมการจัดบริการในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต พบว่าการเข้าถึงบริการดีขึ้น ปัญหาที่พบในระบบริการขณะนี้ คือการขาดแคลนบุคลากรด้านการฝึกพูด เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้สื่อสารไม่ได้ ในปีนี้กรมสุขภาพจิตจะจัดหลักสูตรอบรมให้แก่พยาบาลสถานพยาบาลเครือข่ายทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้เด็กได้รับบริการใกล้บ้าน
สำหรับในกลุ่มเด็กออทิสติกอายุ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งเริ่มเข้าสู่วัยเรียน มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการที่เชื่อมโยงกับโรงเรียน เพื่อเตรียมเข้าสู่สังคม ระบบการศึกษาและการสร้างอาชีพตามศักยภาพของเด็ก เพื่อให้เด็กและครอบครัวมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า รพ.ยุวประสาทฯ ได้จัดโปรแกรมพัฒนาทักษะทางสังคมให้สามารถปรับตัวอยู่ในโรงเรียนและสังคมได้ในช่วงปิดเทอม มีโปรแกรมการดูแลต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับโรงเรียนโรงพยาบาลและครอบครัว และจัดโครงการฟื้นฟูพัฒนาทักษะทางอาชีพและสังคมเพื่อการมีงานทำสำหรับบุคคลที่เป็นออทิสติก โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนกว่า 10 บริษัท อาทิ ชิโน-ไทย เอนจิเนียริ่ง เอสแอนด์พี เอ็มเค โมเดิร์นฟอร์ม อุดมเอก รพ.มนารมย์ รพ.สุขสวัสดิ์ รพ.บางนา 5 เป็นต้น
ทั้งนี้ รพ.ยุวประสาทฯ จะเตรียมความพร้อมให้ฝึกการทำงานจริงในหน่วยงานต่างๆ ของรพ. โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นครูฝึกเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่ได้รับเงินเดือน จากนั้นจะประเมินผลการฝึกปฏิบัติงานตามาตรฐาน ก่อนส่งไปทำงานจริงในสถานประกอบการ และจะติดผลการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ กรณีมีปัญหาทางรพ.จะเข้าไปช่วยเหลือแนะนำที่บริษัท เริ่มโครงการตั้งแต่ พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน ปีละ 1 รุ่น รุ่นละ 10 -15 คน มีบุคคลออทิสติกจากภายนอกเข้าร่วมโครงการ 56 คน ขณะนี้ได้รับการจ้างงานแล้ว 50 คน และอยู่ระหว่างฝึกงานที่ รพ.ยุวประสาทอีก 10 คน จะจบโครงการเดือนธันวาคม 2560 โดยมีบริษัทจองตัวแล้ว4คน กรมสุขภาพจิตได้วางแผนขยายโครงการนี้ ในปี 2561-2562โดยผ่านเครือข่ายผ่านชมรมออทิสติกทั่วประเทศในทุกจังหวัด และรพ.จิตเวชฯในสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อให้บุคคลที่เป็นออทิสติกในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการและสามารถทำงานได้ตามศักยภาพ
แพทย์หญิงรัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า จากการติดตามผลโครงการฯ ในปี 2559 พบว่า บุคคลออทิสติกมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความรับผิดชอบสูง ทำงานตรงเวลา ผลงานเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ โดยส่วนใหญ่ทำงานในงานสำนักงาน ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร สัมพันธภาพอยู่บ้าง มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท ต่อเดือน มีเงินเก็บสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ ในจำนวนนี้สามารถสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูสอนเด็กพิเศษในโรงเรียนใน จ.สมุทรปราการ 1 คน ทำงานที่การไฟฟ้า1คน ในส่วนของผู้ปกครองพบว่ามีความสุขขึ้น บางคนบอกว่า หมดห่วง โล่งใจนอนตายตาหลับได้แล้ว โดยเด็กในโครงการนี้มีไอคิวอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ สามารถเรียนจบการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป บางรายมีความสามารถพิเศษทางด้านคอมพิวเตอร์
ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/edu-health/296932 (ขนาดไฟล์: 167)