คัดกรอง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลดการเสียชีวิตแรกเกิด
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า จากรายงานโดยธนาคารโลกในปี 2558 พบว่าอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดในประเทศไทยอยู่ที่ 7 : 1,000 การเกิดมีชีพ เทียบกับประเทศมาเลเซีย 4 : 1,000 และประเทศสิงคโปร์ 1 : 1,000 การเกิดมีชีพ ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้วางเป้าหมายให้เกิดการลดอัตราการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้ได้มากกว่าร้อยละ 50
จากการศึกษาแผนพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย พบว่าโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิด มีอุบัติการณ์เกิดประมาณ 8 : 1,000 ของทารกเกิดมีชีพ หรือประมาณ 6,000-7,000 คนจากจำนวนทารกเกิดใหม่ปีละ 800,000 คนของประเทศไทย ในจำนวนนี้มีทารกกลุ่มหนึ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่รุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตภายในช่วง 1 เดือนแรกของชีวิตได้ประมาณเกือบ 1,000 คนต่อปี ซึ่งส่งผลต่อความสูญเสียของครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของประเทศชาติ
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โดยนายแพทย์ธนะรัตน์ ลยางกูร ที่ปรึกษาด้านโรคหัวใจได้ร่วมศึกษาปัญหาของการเสียชีวิตของทารกพบว่า การวินิจฉัยโดยอาศัยอาการทางคลินิกที่ใช้อยู่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้การวินิจฉัยโรคได้ล่าช้า แพทย์จะเริ่มสงสัยโรคหัวใจหลังจากทารกมีอาการรุนแรงแล้ว ส่งผลต่อการดูแลรักษาและผลการรักษาที่ตามมา จึงได้ร่วมศึกษาเรื่องการตรวจคัดกรองเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่รุนแรงในทารกแรกเกิด ก่อนจะอนุญาตให้ทารกกลับบ้านพร้อมมารดา
วิธีการคัดกรองจะใช้เครื่องตรวจวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในกระแสเลือด (pulse oximeter : PO) วัดค่าทางผิวหนังที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าของทารก ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและความเสี่ยงใด ๆ ต่อทารก ใช้เวลาน้อย ค่าใช้จ่ายต่ำ มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับสูง บุคลากรของโรงพยาบาลทุกแห่งที่ให้บริการด้านการคลอดแม้ในระดับปฐมภูมิสามารถคัดกรองได้ โดยดำเนินการศึกษาการคัดกรองทารกประมาณ 24 ชั่วโมงหลังเกิดก่อนให้เด็กกลับบ้าน
ตั้งแต่ปี 2555-2557 มีทารกจำนวน 47,279 ราย ได้รับการคัดกรอง พบว่าสามารถคัดกรองเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่รุนแรง ตั้งแต่ที่ทารกยังไม่แสดงอาการรุนแรง ทารกทุกรายได้รับการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจเพื่อยืนยันโรคหัวใจรวมทั้งสิ้น 21 ราย และเมื่อรวมกับผลการตรวจพบทางคลินิกจากกุมารแพทย์ที่ตรวจร่างกายทารกแรกหลังเกิดปกติ พบว่าสามารถให้การวินิจฉัยว่าทารกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่รุนแรงได้ ก่อนจะอนุญาตให้เด็กกลับบ้านได้สูงถึง 81%
ส่วนกลุ่มที่ผลการคัดกรองเป็นลบจะได้รับคำแนะนำให้สังเกตอาการต่อที่บ้าน และนำกลับมาพบแพทย์ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กอาจจะมีปัญหาทางด้านโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังได้พบปัญหาเรื่องการแปลผลค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนที่มือและเท้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยากในการจดจำของผู้ปฏิบัติว่าเมื่อไรผลการคัดกรองจะเป็นบวก ลบ หรือค่าก้ำกึ่ง
ทีมวิจัยจึงได้ประดิษฐ์วงล้อช่วยแปลผลการคัดกรอง โดยตั้งชื่อว่า Blue Baby Wheel (BB wheel) เพื่อลดการผิดพลาดจากการจำตัวเลขที่คลาดเคลื่อน และเพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ยังได้พัฒนาการดำเนินงานในขั้นตอนการแปลผลในรูปของแอปพลิเคชั่นใน สมาร์ทโฟน และพัฒนาการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและการแปลผลลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ผ่านทาง web-based ทำให้มีความสมบูรณ์ของข้อมูล สะดวก รวดเร็ว และสามารถเข้าถึงผลการคัดกรองทั่วทั้งเครือข่ายอย่างรวดเร็ว มีความถูกต้อง แม่นยำ ทันกาล และน่าเชื่อถือได้มากขึ้น
ปัจจุบันได้ขยายผลการศึกษาลงไปสู่การปฏิบัติผ่านทางเขตบริการสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2560 รวมเวลา 3 ปี ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินงาน รวมทั้งส่งข้อมูลการคัดกรองเข้ามาในโปรแกรมฐานข้อมูลจำนวน 210 โรงพยาบาล มีทารกที่ได้รับการคัดกรองไปแล้วสะสมรวม 397,430 ราย มีอัตราการคัดกรองทารก 15,768 รายต่อเดือน และมีจำนวนทารกที่คัดกรองเป็นบวกแล้วจำนวน 263 ราย
ซึ่งทารกจำนวนนี้จะได้รับการส่งต่อเพื่อยืนยันว่ามีโรคหัวใจและจะได้รับการรักษาก่อนที่จะเกิดอาการที่รุนแรงหรือกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ทำให้พอจะมั่นใจได้ว่านวัตกรรมการคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง จะสามารถลดการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจในทารกแรกเกิดลงได้จำนวนมาก
ด้วยผลงานนี้ทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จึงได้รับรางวัล “เลิศรัฐ” ด้านผลงานนวัตกรรมการบริการยอดเยี่ยม จากคณะกรรมการสำนักงานการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ในปี 2560 เป็นการทุ่มเทการทำงานจากการตามรอยพระราชปณิธานสมเด็จ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการ 84 พรรษามหาราชินี ที่ถูกบรรจุในโครงการสาธารณสุขของรัฐบาล
ขอบคุณ... https://goo.gl/ePW5r7