เริ่มต้นเดือนแห่งความรัก วางแผนครอบครัวด้วยความอบอุ่น
โดย นพ.กฤตยะ กฤตย์ประชา
แพทย์สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลพระรามเก้า
ก้าวเข้าสู่เดือนแห่งความรัก หลายๆ ครอบครัวที่กำลังเริ่มต้นชีวิตคู่ ก็อยากที่จะวางแผนมีลูกน้อยมาเติมเต็มครอบครัวให้อบอุ่นและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การวางแผนครอบครัว คือ การที่คู่สามีและภรรยาตกลงร่วมกันเพื่อวางแผนเกี่ยวกับการมีบุตรของครอบครัว โดยอาจใช้วิธีทางธรรมชาติ การใช้ยา หรืออุปกรณ์เพื่อช่วยให้การมีบุตรสำเร็จได้ดีมากขึ้น เรามาดูกันว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง
การเตรียมตัวในการวางแผนครอบครัวเบื้องต้น ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ขั้นแรก ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบถ้วน แนะนำให้ฝ่ายหญิงกินยา folic acid วันละ 1 เม็ด ก่อนตั้งครรภ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อป้องกันภาวะความพิการทางสมองของเด็ก (neural tube defect) และที่สำคัญแนะนำให้มีลูกก่อนอายุ 35 ปี เพราะการตั้งครรภ์จะยากขึ้นหลังอายุดังกล่าว ขั้นที่สอง พบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเราเป็นคู่รักที่เสี่ยงต่อการมีลูกง่ายหรือยาก หรือถ้าตั้งครรภ์ไปแล้วมีโอกาสที่ลูกจะผิดปกติหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีโรคประจำตัวเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี ก็จะมีความเสี่ยงเด็กพิการได้ หรือมีประวัติปวดประจำเดือนมาก ประจำเดือนมาผิดปกติ ตรวจพบเนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ ก็อาจจะมีความเสี่ยงมีลูกยากตามมาได้ ขั้นที่สาม ตรวจเลือดเพื่อเตรียมตัวก่อนมีลูก ที่นิยมตรวจกันคือ ความผิดปกติของเม็ดเลือด (CBC) โรคที่พบบ่อยคือ โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปให้ลูกได้ โดยกรณีถ้าลูกเป็นชนิดรุนแรง ก็จะมีภาวะซีด ตับโต ต้องให้เลือดบ่อยๆหลังคลอด หรือบางรายอาจจะเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ได้ หมู่เลือดและชนิดหมู่เลือด (Blood group ABO and Rh) บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินการขอบริจาคหมู่เลือดหายาก ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เลือดโดยเฉพาะช่วงคลอดลูกจะได้มีการเตรียมเลือดได้ทันท่วงที โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อ HIV ซิฟิลิส เป็นต้น การตรวจหาโรคและภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) ถ้ามารดาติดเชื้อ ก็จะมีความเสี่ยงติดต่อไปยังลูกได้ โดยถ้าเด็กได้รับเชื้อนี้ ก็จะส่งผลต่อการเกิดภาวะตับอักเสบและตับแข็งตามมา ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน หมอแนะนำให้ฉีดวัคซีนรวม 3 เข็มก่อนการตั้งครรภ์ (0,1,6 เดือน) การตรวจหาภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมัน (Rubella) ถ้าติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสที่เด็กจะพิการสูงมาก หมอแนะนำให้ฉีดวัคซีน 1 เข็มก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1เดือน ขั้นที่สี่ ในกรณีที่ปล่อยมีบุตรมาแล้วเกิน 1 ปี ซึ่งเข้าได้กับภาวะมีบุตรยาก หมอแนะนำให้เพิ่มการตรวจน้ำเชื้ออสุจิฝ่ายชายร่วมด้วย (semen analysis) ซึ่งพบสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยากได้ถึงร้อยละ 40 พอๆ กับฝ่ายหญิง
ดังนั้นหากคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงมีการเตรียมตัวเพื่อความพร้อมของชีวิตครอบครัว ก็จะช่วยให้ได้การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัย ลูกน้อยมีความสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกและครอบครัวในอนาคต.
ขอบคุณ... http://www.thaipr.net/health/836104