รู้จัก'โรคหลอดเลือดสมอง' พบหมอไวลดความพิการได้
สัปดาห์นี้แพทย์เตือน “โรคหลอดเลือดสมอง” พบแพทย์ไว ได้รับการฟื้นฟู ลดความพิการได้
ลุ้นและติดตามกันอย่างต่อเนื่อง กรณี “อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง” ป่วยหลอดเลือดในสมองตีบ แต่แฟนคลับหายห่วงได้ เพราะอยู่ในการดูแลของแพทย์ โดยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ พูดคุยกับภรรยาและลูกๆ ได้ตลอดเวลา ทำให้กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายคนตื่นตัวในเรื่องนี้
จริงๆ แล้วอาการเตือนสำคัญของผู้ป่วย คือ หากพบ แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง สับสนพูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง มองเห็นลดลง มีปัญหาการเดิน มึนงง ให้รีบไปพบแพทย์ด่วนที่สุดใน 3ชม.ครึ่ง เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนก่อ “โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต”
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของโรคทางระบบประสาท และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ โรคนี้ส่วนใหญ่ถ้ารักษาไม่ทัน จะมีความพิการหลงเหลือตามมา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน ที่สำคัญสูบบุหรี่
ส่วนวิธีลดความเสี่ยงหลายคนอาจจะละเลยกันไปบ้าง แต่ลองทำให้ครบตามนี้ ทานให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักงดเครื่องดื่มมึนเมา เลี่ยงสูบบุหรี่ และตรวจสุขภาพประจำปี
เพราะปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คือ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จำเป็นต้องรักษาหรือฟื้นฟูด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้กลับมาดีขึ้น เนื่องจากเป็นการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือฉับพลัน เพื่อลดความพิการให้ได้มากที่สุด กลับมาใช้ชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับการวินิจฉัยโรคว่าคนไข้อ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือไม่ หรือเป็นที่กล้ามเนื้อและกระดูก แพทย์จะซักประวัติและอาจเอกซเรย์สมองร่วมด้วย หากพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะส่งให้แพทย์ดูแลอาการให้สภาพคงที่ จากนั้นส่งไปยังศูนย์ฟื้นฟูเพื่อกายภาพบำบัดตามลำดับ
ดังนั้นประชาชนจึงควรมีความรู้เบื้องต้น เพื่อการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา จะยิ่งมีโอกาสสูงมากในการเยียวยาอาการให้ดีขึ้น เช่น การให้ยาละลายลิ่มเลือดในภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ และการดูแลที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดในสมองแตก จะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ตลอดจนลดอัตราการเสียชีวิตได้
ผศ.นพ.สุพจน์ ตุลยาเดชานนท์ หน่วยประสาทวิทยา รพ.รามาธิบดี เปิดเผยผลการวิจัยที่พบว่า สูบบุหรี่ทำให้ผนังเลือดเปราะบาง เกิดการแตกของเส้นเลือดในสมองที่โป่งพองเพิ่มขึ้น 2เท่า
โดยเป็นผลการวิจัยของ Dr.Anil Can และคณะจากรพ.แมสซาชูเซตส์เนอรัล สหรัฐฯ ศึกษาจากการสืบค้นเวชระเบียนในผู้ป่วย 4,701 ราย ที่ป่วยเส้นเลือดในสมองโป่งพอง ระหว่าง ค.ศ.1990-2013 พบผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มีอัตราการแตกของเส้นเลือดสมองที่โป่งพอง เป็น 2 เท่าของผู้ป่วยเส้นเลือดสมองโป่งพองที่ไม่สูบบุหรี่ ส่วนในคนที่เลิกสูบบุหรี่แล้วมากกว่า 1 ปี อัตราการก็ยังสูงกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เกือบ 2 เท่า โดยโอกาสการแตกของเส้นเลือดเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบ/วัน คือยิ่งสูบมากโอกาสเส้นเลือดแตกยิ่งมาก
ผศ.นพ.สุพจน์ ให้ข้อมูลอีกว่า ในปี 56 โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึง 58,500 คน ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผลจากที่คนไทยป่วยโรคความดันสูงถึง 12 ล้านคน และเกือบครึ่งยังไม่มารักษา และในผู้ที่เป็นความดันสูงมีถึง 1.5 ล้านคน ยังคงสูบบุหรี่อยู่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดตีบหรือแตก
ฉะนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง จะลดความเสี่ยงนำไปสู่การก่อโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต เพราะโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า อัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ และกำลังเป็นภัยคุกคามทั้งไทยและทั่วโลก ขณะนี้มีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี มากกว่าโรคเบาหวานและโรคหัวใจขาดเลือดประมาณ 2 เท่า องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลกอีกด้วย
ทั้งนี้การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถทำได้ง่าย ได้แก่ รับรู้ความเสี่ยงของตนเอง เช่น ระดับความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ ควบคุมตนเองไม่ปล่อยให้อ้วน และลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ควรงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ สุดท้ายต้องลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยประชาชนทุกคนต้องเรียนรู้สัญญาณเตือนของการเกิดโรค และปฏิบัติตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายและลดความพิการลงได้.