รู้จักโรคหลอดเลือดสมอง "แตก-ตีบ" ทำ ตาย พิการสูง
อากาศร้อนปรอทแตกขนาดนี้คงต้องพูดถึง “โรคหลอดเลือดสมอง” กันถี่ ๆ หน่อยเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ และดูแล ป้องกันตัวเองเบื้องต้นได้.
อากาศร้อนปรอทแตกขนาดนี้คงต้องพูดถึง “โรคหลอดเลือดสมอง” กันถี่ ๆ หน่อยเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ และดูแล ป้องกันตัวเองเบื้องต้นได้ เพราะจากข้อมูลของ “ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย” ระบุว่า คนไทยป่วยตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 1 ประมาณปีละ 5 หมื่นราย อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาตปีละ 2.5 แสนราย
ทั้งนี้ ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ กรรมการบริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน พบได้ประมาณ 80% ส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ไขมันในเลือดสูง หรือการมีลิ่มเลือดมาอุดตันหลอดเลือดสมอง ในรายโรคหัวใจบางชนิด หรือผู้ที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ส่วนสาเหตุอื่น ๆ เช่น หลอดเลือดอักเสบจากโรคภูมิต้านทานผิดปกติ ยาเสพติด การได้รับความกระทบกระเทือนที่หลอดเลือด
การมาพบแพทย์ให้เร็วจะช่วยลดการพิการลงได้ อย่างภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง และปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์พิเศษดึงลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมองได้ นอกจากนี้ยังมีการรักษาอื่นอีก เช่น การให้ยาต้านเกล็ดเลือด แอสไพริน, ยาลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น
2.โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือเลือดออกในสมอง พบประมาณ 20% ส่วนใหญ่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นมานาน และควบคุมได้ไม่ดี รวมถึงผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรค มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนปกติทั่วไป อาการข้างเคียงที่พบได้ เช่น ชาครึ่งซีก ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นหรือมองเห็นภาพครึ่งซีกของลานสายตาหรือเห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและหมดสติ การรักษาระดับความดันโลหิตให้เหมาะสม หรือให้ยาแก้ไขภาวะเลือดออกง่าย ส่วนการผ่าตัดจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
ศ.พญ.นิจศรี ย้ำว่า สิ่งสำคัญโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องหมั่นดูแลร่างกาย ควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคอย่างสม่ำเสมอ เช่น คุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท การเต้นของหัวใจและระดับไขมันและระดับน้ำตาล งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด และอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30-40 นาทีต่อวัน 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ พบแพทย์ตามนัดและรับประทานยาสม่ำเสมอและถ้ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองไม่ควรรอดูอาการควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด.