“ไข้หูดับ” ไม่ใช่แค่หูดับ แต่เสี่ยงติดเชื้อรุนแรงแม้รอดชีวิตก็ยัง
อันตรายจากการกินหมูดิบที่หลายคนรู้จักคือไข้หูดับที่หากป่วยแล้วอันตรายมากกว่าการสูญเสียการได้ยิน
ไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งในโรคนี้เป็นการติดต่อจากสุกรสู่คน การติดเชื้อไข้หูดับไม่ได้เกิดจากระบบการหายใจ แต่เป็นการติดเชื้อผ่านบาดแผลตามร่างกาย หรือเข้าทางเยื่อบุตา ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู ทำงานในโรงงานชำแหละหมู หรือผู้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย และผู้ที่มีความเสี่ยง หมายรวมถึงผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือดิบๆ สุกๆ
โรคนี้ระบาดอยู่ในหลายประเทศที่มีการเลี้ยงหมูรวมทั้งประเทศไทย มักพบในชุมชนที่มีการเลี้ยงหมู ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แพร่ และน่านมีรายงานความเสี่ยงการติดโรคนี้มากขึ้น ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ที่เคยตัดม้ามออก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ
อาการของผู้ที่ติดเชื้อ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง
บางรายติดเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง
บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง
บางรายติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
บางรายติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจแบบกึ่งเฉียบพลัน
ผู้ป่วยที่รอดชีวิตยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก
ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติในการทรงตัว หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตาจะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้
กลุ่มอาการอื่น ได้แก่ ข้ออักเสบ หรือลิ้นหัวใจอักเสบ
หากเผลอกินหมูดิบเข้าไปควรทำอย่างไร?
ควรสังเกตอาการ ไข้หูดับมีระยะฟักตัว 3-5 วัน หากมีไข้หรือมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ ฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุกคือการกินอาการที่ปรุงสุกเท่านั้น อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวไม่ได้พบบ่อยมากนัก ในปี 2566 ข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 25 พฤศจิกายน 2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 548 ราย และมีผู้เสียชีวิต 26 ราย กระจายไปตาม จังหวัด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพ รับจ้าง รองลงมา คือ เกษตรกร และทำงานบ้าน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามไม่ควรประมาทและหลีกเลี่ยงกินหมูดิบแยกตะเกียบแยกช้อนสำหรับคีบหรือตักหมูดิบเป็นดีที่สุด รวมถึงเกษตรกรควรเฝ้าระวังหมูป่วยและไม่ควรสัมผัสกับเนื้อหมูโดยตรงด้วย