สธ. เผย พยาการณ์โรคสัปดาห์นี้ คาด ‘ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่’ เพิ่มขึ้น แนะป้องกันตัวเอง-ฉีดวัคซีนลดเสี่ยง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยรายสัปดาห์ คาดเข้าหน้าฝน-อากาศเปลี่ยน-ผ่อนคลายมาตรการ มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น แนะป้องกันตัวเอง-ฉีดวัคซีนป้องกันช่วยลดเสี่ยงได้ โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ประจำสัปดาห์ที่ 29 ระหว่างวันที่ 17-23 ก.ค. 2565 โดยคาดการณ์ว่า มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงฤดูฝนเป็นฤดูการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ระบุถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 11 ก.ค. 2565 มีรายงานพบผู้ป่วย 3,510 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อายุ 15-24 ปี (11.97%) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี (9.80%) และกลุ่มเด็กแรกเกิด - 1 ปี (9.29%) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นราธิวาส เชียงราย ตาก พิษณุโลก และน่าน ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ประชาชนควรดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และโรคโควิด-19 โดยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในบริเวณที่ชุมชน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวรวมกับคนอื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ และเมื่อมีอาการป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
สำหรับ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ และผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนสามารถฉีดวัคซีนได้ทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ แต่ให้ฉีดที่แขนคนละข้าง
ขณะเดียวกัน สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. โรคอ้วน คือผู้ ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยได้
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และที่สถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของ สธ. ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ส.ค. 2565 สามารถสอบถามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422