ทำความรู้จัก! ตำแหน่งปลิ้นหมอนรองกระดูกส่วนเอว แพทย์แนะรักษาเร็วก่อนพิการ
“อาการปวดหลัง” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของคนในยุคปัจจุบัน เพราะโรคดังกล่าวเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน บางคนเมื่อมีอาการปวดหลัง หากโชคดีเพียงรับประทานยา หรือทำกายภาพบำบัดก็หาย แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเข้าสู่ภาวะการผ่าตัด เพราะกว่าจะรู้ว่าตัวเองไม่ได้ปวดหลังธรรมดา แต่กลับกลายเป็นโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เมื่อถึงจุดนั้น ก็สายเกินไปเสียแล้ว ดังนั้น การสังเกตตัวเองและเข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด จะทำให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ไม่ต้องคิดไปเองว่า นี่คืออาการปวดหลังธรรมดาที่เกิดจากกล้ามเนื้อหรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทหรือไม่
นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาล (รพ.) เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยหลายรายมักไปปรึกษาแพทย์ด้วยอาการปวดหลังและปวดสะโพกร้าวลงขา ซึ่งพบว่าผู้ป่วยบางรายยังสับสนว่า ปวดหลังธรรมดา หรือปวดสะโพกร้าวลงขากันแน่ ขณะที่ บางรายไปด้วยอาการเดินลำบาก ใส่รองเท้าแล้วหลุดออกจากเท้าตลอด อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่า กำลังป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
นพ.ชุมพล กล่าวถึงเรื่องตำแหน่งปลิ้นของหมอนรองกระดูกส่วนเอว ว่า ปกติกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spine) จะประกอบด้วย กระดูก 5 ชิ้น (เรียก L1-L5) และด้านล่างของส่วนเอว คือ ก้นกบ ซึ่งแต่ละข้อจะมีเส้นประสาทวิ่งออกมาจากตัวไขสันหลัง แต่ละอันจะวิ่งไปเลี้ยงในตำแหน่งที่แตกต่างกัน ดังนั้น ถ้ามีปัญหาที่เส้นประสาทในตำแหน่งไหน จะทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการของตำแหน่งที่เส้นประสาทเส้นนั้นไปเลี้ยง
“เช่น หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทเส้นที่ 5 ซึ่งโดยปกติ เส้นที่ 5 เลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้กระดกนิ้วโป้งเท้า หากมีปัญหา ผู้ป่วยจะไปพบแพทย์เพราะกระดกนิ้วเท้าไม่ขึ้น แต่จะไปด้วยอาการเดินลำบาก เดินแล้วรองเท้าหลุดออกจากเท้า ไม่สามารถใส่รองเท้าแล้วเดินได้ปกติ ทั้งนี้ หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นส่วนใหญ่จะเกิดที่ข้อ L4-5 และ L5-S1 ในส่วนบริเวณก้นกบ และพบว่าคนส่วนใหญ่มีอาการที่ตำแหน่งนี้ถึงร้อยละ 90 หากหมอนรองทับเส้นประสาทที่ตำแหน่งข้อ L4-5 จะปรากฎอาการปวดที่บริเวณสะโพกร้าวลงขา โดยตำแหน่งจากสะโพกไปที่ต้นขาด้านนอก และลงไปที่บริเวณน่อง สิ้นสุดที่นิ้วโป้งเท้า แต่หากหมอนรองทับเส้นประสาทที่ตำแหน่ง L5-S1 ตำแหน่งการปวดจะอยู่ที่บริเวณต้นขาด้านหลัง ลงไปที่บริเวณน่องด้านหลัง วิ่งไปที่นิ้วก้อยเท้า แต่หากเป็นที่ส่วนตำแหน่ง L3 L4 จะพบน้อยมาก” นพ.ชุพล กล่าว
นพ.ชุมพล กล่าวอีกว่า หากวิเคราะห์ได้ตรงจุด ก็จะสามารถรักษาและได้ผลลัพธ์ที่ 100% ดังนั้น จึงต้องใช้การเอ็กซเรย์ หรือ เอ็มอาร์ไอ ช่วยในการวิเคราะห์โรคได้อย่างแม่นยำ
“ปกติการผ่าตัดโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังในอดีตนั้น จะมีการผ่าตัดเปิดแผลด้านหลังที่ใกล้กับจุดที่ทำการรักษา แต่ด้วยการมองเข้าในจุดที่ทำการรักษานั้น มีขีดจำกัด จำเป็นที่จะต้องเปิดแผลกว้าง เพื่อช่วยในการมองเห็น จึงทำให้พื้นที่ที่ไม่เกี่ยวในการรักษาต้องบอบช้ำ และเป็นที่มาของการพักฟื้นนาน รวมไปถึงความเสี่ยงในการติดเชื้ออีกด้วย ดังนั้น ได้มีการพัฒนานำกล้องมาใช้ร่วมในการผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นจุดที่จะทำการรักษา ทำให้การเปิดแผลผ่าตัดลดขนาดลง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและชำนาญของศัลยแพทย์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” นพ.ชุมพล กล่าวและว่า ปัจจุบัน รพ.เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ใช้การรักษาด้วยวิธีการเจาะรูส่องกล้อง ขนาด 5 มิลลิเมตร โดยภายในมีระบบนำแสงพิเศษ เพื่อช่วยในการมองเห็น และมีช่องที่จะสอดเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น เลเซอร์ หรือ อุปกรณ์รักษาชนิดพิเศษอื่นๆ เพื่อเข้าไปรักษาตรงจุดที่เป็นสาเหตุได้สะดวกยิ่งขึ้น และเมื่อกล้องถูกมองเห็นจากปลายอุปกรณ์แล้ว การเปิดแผลจึงเล็กมากตามขนาดของอุปกรณ์ ความบอบช้ำของแผล และอัตราการเสี่ยงติดเชื้อจึงลดลงตามลำดับ ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวหลังการรักษาเร็ว และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง
นพ.ชุมพล กล่าวว่า ผู้ที่มีอาการหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท มักจะมีอาการที่ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องมาจากอาการปวดหลัง หรือปวดสะโพกร้าวลงขา ในระยะแรกๆ ผู้ป่วยอาจสามารถทนกับอาการดังกล่าวได้ แต่ในระยะต่อไปอาการจะมีมากขึ้น ดังนั้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาการปวดอาจมีหลายสาเหตุ ดังนั้น เมื่อมีสัญญาณเตือนอาการเหล่านี้ ควรเริ่มป้องกันและค้นหาสาเหตุ คือสิ่งที่ดีที่สุด และเมื่อมีอาการแล้วก็ไม่ควรปล่อยไว้นานจนเรื้อรัง เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความพิการได้
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3700560