เลือดออกในสมอง : เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง อันตรายที่อาจมาถึงอย่างฉับพลัน

เลือดออกในสมอง : เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง อันตรายที่อาจมาถึงอย่างฉับพลัน

โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรือ acute stroke เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 และสาเหตุการพิการอันดับ 3 ของโลก หนึ่งในอาการนั้น คือ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ที่ถือว่าเกิดได้ยาก แต่หากเกิดขึ้น จะรวดเร็วและเฉียบพลัน โดยมีโอกาสเสียชีวิต หรือพิการถาวรได้สูง

เว็บไซต์ พบแพทย์ (Pobpad) ระบุว่า เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หรือ subarachnoid hemorrhage เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีเลือดไหลออกมาบริเวณเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเนื้อสมองกับเนื้อเยื่อที่หุ้มสมอง อาการนี้ มักเกิดขึ้นจากหลอดเลือดสมองที่โป่งพองผิดปกติแตกจนมีเลือดไหลออกมา ซึ่งถือว่าพบได้ไม่บ่อยนักแต่ก็เป็นการเจ็บป่วยที่อันตราย และผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอย่างทันท่วงที

กรณีที่ไม่มีประวัติการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน แต่กลับเกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง, อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อธิบายในบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ Wongkarnpat.com ว่า ราวร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากการแตกของหลอดเลือดในสมองที่เกิดการโป่งพอง ส่วนสาเหตุอื่น ๆ อาจมาจากการสร้างหลอดเลือดผิดปกติ หรือการอักเสบของหลอดเลือด เป็นต้น

“ภาวะนี้มักจะพบในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ และมีความสำคัญมากเนื่องจากมักทำให้เกิดความพิการหรือความผิดปกติถาวรได้ถึงประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิตอย่างมาก”

บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองส่วนกลาง โรคร้ายหายาก ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยกำลังให้ความสนใจ มาไว้ในบทความนี้

อาการของโรค

อาการเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หลัก ๆ คือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นมาในทันที โดยปวดคล้ายถูกตีที่ศีรษะ ในบางครั้งอาจเกิดขึ้นขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง เช่น ไอ ขับถ่าย หรือมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

“อาการปวดศีรษะ ซึ่งมักจะรุนแรงมากและเกิดขึ้นอย่างทันที อาการปวดมักจะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดภายในเวลาไม่กี่วินาที” อ.นพ.สันติ ระบุ พร้อมอธิบายว่า อาการปวดหัวเฉียบพลันและรุนแรงนี้ มักถูกเรียกว่า “ปวดศีรษะเหมือนถูกฟ้าผ่า”

ผู้ป่วยราว 10-40% อาจเริ่มมีอาการปวดศีรษะนำมาก่อนคล้ายสัญญาณเตือน ก่อนมีเลือดออกจริงประมาณ 2-8 สัปดาห์ ซึ่งมักจะเกิดจากการเริ่มมีเลือดรั่วออกมาจากหลอดเลือด อันเป็นผลจากการทำกิจกรรมหนัก หรือมีความเครียด แต่โดยมากแล้วสามารถเกิดภาวะเลือดออกได้แม้จะเป็นการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ดี อ.นพ.สันติ อธิบายว่า เนื่องจากอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นจากเลือดออกในเยื่อหุ้มสมองนั้น มักจะพบได้เพียงร้อยละ 1 ของผู้ป่วยทั้งหมดที่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการปวดศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้มากจากการไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องทันเวลา

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดคอ คอยึดตึง รู้สึกคลื่นไส้ ผะอืดผะอม รู้สึกปวดตาเมื่อเห็นแสงจ้ามองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นภาพซ้อน สับสน มึนงง หมดสติ ชัก รวมถึงอาการอื่น ๆ คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ ตัวชา หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น

สาเหตุของโรค

สาเหตุของโรคนั้น มีหลายประการ Pobpad.com อธิบายว่า สาเหตุหลัก คือ หลอดเลือดในสมองโป่งพอง เนื่องจากผนังหลอดเลือดเปราะบาง เมื่อได้รับแรงกดจากกระแสเลือดที่ไหลผ่านจึงโป่งพองและแตกได้ในที่สุด และอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น ความดันโลหิตสูง ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หรือมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุจาก สมองได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือน หลอดเลือดสมองเจริญผิดรูปผิดร่าง ภาวะมีเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หลอดเลือดสมองอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนทำลายเซลล์สุขภาพ โรคหลอดเลือดไฟโบรมัสคูลาร์ ดิสเพลเชีย (Fibromuscular Dysplasia) ซึ่งทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลง โรคหลอดเลือดสมองอุดตันโมยาโมยา (Moyamoya Disease) และ ภาวะสมองติดเชื้อ เช่น สมองอักเสบ เป็นต้น

ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง พบได้ประมาณ 6-30 คนต่อประชากร 100,000 คน ตามข้อมูลของ หาหมอ ดอต คอม โดยสถิติจะแตกต่างตามผลการศึกษาในแต่ละประเทศ และกลุ่มประชากรที่แตกต่างกัน

สำหรับโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองฯ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เพียง 1-2% ของประชากร โดยตำแหน่งที่เกิดการโป่งพองมักจะเป็นจุดที่หลอดเลือดแดงมีการแยกสาขาออกจากกัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่ได้รับแรงเซาะหรือกระทบจากกระแสเลือดอยู่ตลอดเวลา

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว คือ ผู้ที่มีประวัติผู้เป็นภาวะนี้ในครอบครัว มีโรคที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เป็นต้น

เมื่อหลอดเลือดในสมองที่โป่งพองเกิดการแตกแล้ว, อ.นพ.สันติ อธิบายว่า เลือดจะออกมาจากหลอดเลือดแดงเข้าสู่ชั้นเยื่อหุ้มสมองส่วนกลาง และเกิดการสะสมแรงดันในบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเท่ากับแรงดันภายในหลอดเลือดแล้ว และมีการสร้างลิ่มเลือดขึ้นแล้วภาวะเลือดออกจึงจะหยุดลง ดังนั้น การมีเลือดออกจากหลอดเลือดเหล่านี้จึงสร้างผลกระทบกับสมองได้มาก และมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 25-50 ที่เสียชีวิตจากภาวะนี้

การวินิจฉัย

แพทย์มักวินิจฉัยได้จากอาการที่ปรากฏ และอาจตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เพื่อดูระดับความรุนแรงและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป เช่น

การสแกน - โดยอาจใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจหาภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งแพทย์อาจฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือดของผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยให้เห็นภาพประกอบการวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น

การฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือดสมอง - แพทย์อาจสอดท่อที่หลอดเลือดบริเวณขาแล้วฉีดสารย้อมสีให้ไหลไปตามเลือดและเข้าไปยังสมอง จากนั้นจึงใช้เครื่องเอกซเรย์ฉายภาพหลอดเลือดสมอง มักใช้ในกรณีที่แพทย์ต้องการตรวจภาพอย่างละเอียดมากขึ้นเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยเป็น subarachnoid hemorrhage

การเจาะน้ำไขสันหลัง - เป็นการใช้เข็มเจาะนำตัวอย่างของเหลวบริเวณไขสันหลังไปตรวจหาเซลล์เม็ดเลือดที่ปนอยู่ ซึ่งแสดงถึงการเกิด subarachnoid hemorrhage

ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา อธิบายในบทความ เผยแพร่โดย “หาหมอ ดอต คอม” ว่า การวินิจฉัยยังพิจารณาจากจากประวัติอาการปวดศีรษะรุนแรงที่สุดในชีวิต ที่เกิดขณะที่ทำกิจกรรมออกแรง โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมถึง การตรวจร่างกายพบต้นตอแข็งตึง ก้มคอลงไม่ได้ อาจตรวจพบความผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ลืมตาไม่ขึ้น แขนขาอ่อนแรง อัมพาตเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 เป็นต้น

การรักษาเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

อ.นพ.สันติ อธิบายต่อว่า เป้าหมายแรกของการรักษา คือ การพยายามลดโอกาสของการเกิดและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการมีเลือดออก ขั้นต้น ควรดูแลทางเดินหายใจให้เปิดโล่งและมีระบบไหลเวียนเลือดทำงานเป็นปกติ ไปจนถึง ควบคุมและป้องกันอาการชัก ก่อนตรวจวินิจฉัยในขั้นตอนต่อไป

ส่วนระดับการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของการป่วย โดยแพทย์อาจพิจารณารักษาผู้ป่วยด้วยวิธีดังต่อไปนี้

เลือดออกในสมอง : เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง อันตรายที่อาจมาถึงอย่างฉับพลัน

การให้ยา

• ยาป้องกันหลอดเลือดหดเกร็ง อย่างนิโมดิปีน

• ยาบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอลผสมกับโคเดอีน และมอร์ฟีน เป็นต้น

• ยาต้านชัก อย่างเฟนิโทอิน

• ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน

การผ่าตัด

• ผ่าตัดสมอง โดยแพทย์อาจผ่าตัดบริเวณสมองที่มีเลือดออกแล้วนำคลิปโลหะวางเพื่อปิดห้ามเลือด

• ผ่าตัดเปิดหลอดเลือด ซึ่งแพทย์อาจผ่าตัดสอดท่อบริเวณหลอดเลือดที่ขาหนีบ แล้วสอดสายให้ยาวถึงเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง แล้วจึงวางขดลวดแพลตตินัมให้เข้าไปยังบริเวณหลอดเลือดสมองที่มีการโป่งพอง เพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือดไปยังหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง ไม่ให้ผู้ป่วยอาการหนักขึ้นหรือเกิดภาวะเลือดออกซ้ำ

ไม่เพียงเท่านั้น อ.นพ.สันติ ย้ำว่า แพทย์ต้องรักษาเพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดเลือดออกซ้ำด้วย เพราะมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการมากกว่าผู้ป่วยที่มีเลือดออกเพียงครั้งเดียวอย่างมาก

“ผู้ป่วยที่มีเลือดออกครั้งแรกจะมีโอกาสเกิดเลือดออกซ้ำภายใน 24 ชั่วโมงแรกราว 4-14% และความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกซ้ำจะยังสูงต่อไปได้อีกถึง 30 วันหากยังไม่ได้รับการรักษา”

การรักษาเพื่อป้องกันการเลือดออกซ้ำ มีดังนี้

• ยาลดความดันโลหิต เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดเลือดออกซ้ำ

• ยาต้านการสลายลิ่มเลือด อาจช่วยทำให้ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นแล้วคงอยู่ต่อไปได้อีก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดเลือดออกซ้ำได้

• การให้ยากันชัก อาการชักนั้นพบได้บ่อยราว 20% ในผู้ป่วยภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองส่วนกลาง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอยู่ในเนื้อสมอง ซึ่งอาการชักอาจมีผลทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติและอาจกระตุ้นทำให้มีเลือดออกซ้ำได้มากขึ้น

• การรักษาหลอดเลือดโป่งพองในสมองที่แตก เพราะ มีความปลอดภัยและมีประโยชน์มากในแง่ของการป้องกันการเกิดเลือดออกซ้ำ แต่ควรทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการรักษา

เลือดออกในสมอง ทำหัวใจหยุดเต้น ?

พญ.จิตรลดา สมาจาร อธิบายในบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ โรงพยาบาลสมิติเวช ว่า หัวใจ สมอง และปอด เป็นอวัยวะที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ โดยสาเหตุการเสียชีวิต 3 อันดับแรกของโลก ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี 2562 คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ตามลำดับ

สำหรับ โรคหลอดเลือดสมองกับโรคหัวใจนั้น เกิดขึ้นได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน “เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคทั้งสองระบบมีความคล้ายคลึงกันมาก” อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นต้น

พญ.จิตรลดา ระบุว่า ปัจจัยเหล่านี้ เป็นตัวเร่งให้เกิดคราบไขมันไปเกาะด้านในหลอดเลือดในสมอง ทำให้เกิดการอุดตัน จนนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ได้ หรือถ้าไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ก็จะนำไปสู่ ภาวะหัวใจขาดเลือดหรือสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ได้เช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจและสมอง ยังวัดได้จาก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงที่สุด และอาจสูงมากกว่า 5 เท่าหากผู้ป่วยมีโรคอื่นๆ หรือ รายงานของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐฯ ในปี 2561 ที่ระบุว่า หากมีคนไข้เป็นโรคหัวใจ 100 คน จะพบคนที่มีความเสี่ยงเป็นสโตรกได้ถึง 17 คน

ป้องกันได้หรือไม่

หาหมอ ดอต คอม ระบุว่า เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง สามารถป้องกันได้ส่วนหนึ่ง กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคความดันโลหิตสูง โรคถุงน้ำในไต การติดเชื้อในกระแสโลหิต (โรคพิษเหตุติดเชื้อ) และอุบัติเหตุที่ศีรษะ

การควบคุมโรคดังกล่าวให้ดี เช่น ติดตามอาการของโรคถุงน้ำในไต และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอ็มอาร์ไอสมองเพื่อประเมินว่ามีภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าพบรอยโรคในสมองมีขนาดใหญ่ ก็สามารถให้การรักษาก่อนที่จะมีการแตกของหลอดเลือดที่ผิดปกติ หรือ กรณีมีการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ก็ต้องหลีกเลี่ยงการให้ยาละลายลิ่มเลือด และหลีกเลี่ยงหรือป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างรุน แรง เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อใช้รถยนต์ และสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์

เลือดออกในสมอง กับกรณีศึกษาเชิงกฎหมาย

กรณีที่วินิจฉัยอาการ และรับการรักษาได้อย่างไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยโรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง หรือเลือดออกในสมอง สามารถนำไปสู่อาการวิกฤตที่ผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองได้ และต้องพยุงชีพด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือ แต่คำถามตามมา ซึ่งปรากฏในข่าวบ่อยครั้ง คือ ผู้ป่วยวิกฤตจากอาการเหล่านี้ ถือว่าเสียชีวิตแล้วหรือไม่

ยกตัวอย่าง ศาลสูงอังกฤษมีคำตัดสินเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของแพทย์ว่า หญิงวัย 40 เศษคนหนึ่ง เสียชีวิตแล้วเมื่อ 10 มี.ค. 2565 หลังครอบครัวของหญิงรายนี้ร้องต่อศาลว่าทางโรงพยาบาล "เร่ง" ปิดเครื่องพยุงชีพ

แพทย์ที่รักษาเธอที่โรงพยาบาลปีเตอร์โบโรห์ วินิจฉัยว่าเธอเป็น “โรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองส่วนกลาง” และการใช้เครื่องพยุงชีพเป็น “การรักษาพยุงชีพที่เปล่าประโยชน์”

ทนายของโรงพยาบาลระบุในเอกสารที่ยื่นต่อศาลว่า "ไม่มีหนทางรักษาด้วยการผ่าตัดทางประสาทที่จะใช้ได้ผล และการรักษาทางคลินิคในปัจจุบันก็ไร้ประโยชน์” ดังนั้น ศาลจึงวินิจฉัยว่า หญิงรายนี้ได้เสียชีวิตด้วยอาการสมองตาย

ขอบคุณ... https://www.bbc.com/thai/articles/ce9v6ppe93lo

ที่มา: bbc.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 20 ธ.ค. 65
วันที่โพสต์: 20/12/2565 เวลา 10:14:10 ดูภาพสไลด์โชว์ เลือดออกในสมอง : เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง อันตรายที่อาจมาถึงอย่างฉับพลัน