เห็ดเมาช่วย "รีเซ็ต" สมองผู้ป่วยซึมเศร้าได้
สารออกฤทธิ์หลอนประสาทที่พบในเห็ดเมา สามารถปรับสภาพและจัดระเบียบสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงชนิดที่ไม่มีทางรักษาให้มีอาการดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นความหวังต่อการรักษาโรคทางจิตเวชนี้ในอนาคต คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่า ได้ทำการวิจัยกับกลุ่มทดลองขนาดเล็กที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 19 คน โดยได้ให้ยาซิโลซายบิน (Psilocybin) ซึ่งสกัดจากเห็ดเมา 1 ครั้งแก่ผู้ป่วยทุกคน และมีการสแกนตรวจดูลักษณะการทำงานของสมองผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรับยา 1 วันด้วย
ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลองครึ่งหนึ่ง ไม่มีอาการซึมเศร้าเหลืออยู่หลังสร่างเมาจากยาแล้ว และสมองบางส่วนมีการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยผู้ป่วยสามารถคงภาวะที่มีอาการดีขึ้นนี้ไว้ได้นานราว 5 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานวิจัยบางชิ้นที่ระบุว่า ยาซิโลซายบินซึ่งสกัดจากเห็ดเมาเป็นเสมือน "สารหล่อลื่นทางจิตประสาท" ที่ทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากวงจรการเกิดอาการซึมเศร้าได้ แต่งานวิจัยล่าสุดนี้สามารถชี้ได้ว่า คนไข้ที่รับยาดังกล่าวจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่สมอง 2 ส่วน คือที่ส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับการจัดการความรู้สึกกลัวและกังวล กับส่วนเครือข่ายประสาทอัตโนมัติที่ทำงานเมื่อสมองพักผ่อน (Default-Mode Network - DMN ) ซี่งจะมีความเสถียรขึ้นหลังได้รับยาดังกล่าว
ดร. โรบิน คาร์ฮาร์ต-แฮร์ริส ผู้นำทีมวิจัยระบุว่า สมองของผู้ป่วยซึมเศร้านั้นเหมือนอยู่ในภาวะปิดตัวไม่ตอบสนอง แต่หลังได้รับยาดังกล่าว ผู้ป่วยหลายรายบอกว่ารู้สึกเหมือนสมองได้รับพลังงานกระตุ้นให้มีการจัดระบบระเบียบใหม่หรือถูก "รีเซ็ต" ให้ดีขึ้น รวมทั้งรู้สึกเหมือนกับเป็นคนใหม่
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและคนทั่วไปไม่ควรพยายามใช้เห็ดเมาด้วยตนเอง และยังคงต้องมีการทดลองเพิ่มเติมกับกลุ่มทดลองจำนวนมากขึ้น ก่อนที่จะแน่ใจได้ว่าสามารถนำไปใช้เป็นวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่ปลอดภัยในอนาคต