‘กรมอนามัย’ จับมือภาคีฯ นำทีมหมอฟันลง ‘บ้านราชาวดี’ ดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ

‘กรมอนามัย’ จับมือภาคีฯ นำทีมหมอฟันลง ‘บ้านราชาวดี’ ดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ

“กรมอนามัย” จับมือ 8 หน่วยงาน นำทีมหมอฟันลง “บ้านราชาวดี” ดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ เพิ่มการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม

วันที่ 18 ก.พ. 2568 สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ 8 หน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในกลุ่มเปราะบาง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ณ สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (หญิง) จ.นนทบุรี

ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะจัดบริการสุขภาพช่องปากแบบบูรณาการภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นการสร้างความมั่นใจว่าประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายที่เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้พิการ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

‘กรมอนามัย’ จับมือภาคีฯ นำทีมหมอฟันลง ‘บ้านราชาวดี’ ดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มศว หน่วยทันตกรรมอาสาตามรอยพ่อ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.นนทบุรี) เทศบาลนครปากเกร็ด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมเหรียญทอง ประเภทยานพาหนะทางทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยนั่งรถเข็นจากการประกวด “the 48 international exhibition of innovation Geneva” ประเทศสวิซเซอร์แลนด์

‘กรมอนามัย’ จับมือภาคีฯ นำทีมหมอฟันลง ‘บ้านราชาวดี’ ดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ

ด้าน ทพ.ดำรง ธำรงเลาหะพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (หญิง) มีผู้พิการในการดูแลจำนวน 396 คน มีอายุตั้งแต่ 8 ปี จนถึง 65 ปี โดยมีความพิการทั้งทางการเคลื่อนไหว บกพร่องทางการเรียนรู้ และความพิการทางจิต ซึ่งคนพิการเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพช่องปาก เนื่องจากข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวและการสื่อสาร ทำให้การทำความสะอาดช่องปากไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดปัญหาฟันผุและเหงือกอักเสบได้ง่าย นอกจากนี้ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคทางจิตเวชหรือโรคประจำตัวอื่นๆ ยังก่อให้เกิดภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย และแผลในช่องปาก ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนพิการ

“อีกทั้งกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วยการตรวจฟัน การวางแผนการรักษาทางทันตกรรม การรักษาและป้องกันทางทันตกรรม ได้แก่ การเคลือบฟลูออไรด์ การอุดฟัน การขูดหินน้ำลาย และการถอนฟัน รวมถึงการฝึกทำความสะอาดช่องปากสำหรับผู้ดูแล และผู้พึ่งพิงที่ช่วยเหลือตัวเองได้ โดยมุ่งหวังให้ผู้พิการมีโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม” ทพ.ดำรง ระบุ

ขอบคุณ... https://www.thecoverage.info/news/content/8232

ที่มา: thecoverage.info/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 ก.พ. 68
วันที่โพสต์: 19/02/2568 เวลา 13:39:15 ดูภาพสไลด์โชว์ ‘กรมอนามัย’ จับมือภาคีฯ นำทีมหมอฟันลง ‘บ้านราชาวดี’ ดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ