วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กระบอกเสียงผู้พิการชิง ส.ว.

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กระบอกเสียงผู้พิการชิง ส.ว.

หมายเหตุ – ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะว่าที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนและความพร้อมต่อการสมัครลงรับเลือก ส.ว. จากทั้งหมด 20 กลุ่มอาชีพ

ผมเป็นคน จ.นครราชสีมาโดยกำเนิด เรียนจนถึงชั้น ม.ศ.3 ได้ทดลองวิทยาศาสตร์แล้วเกิดระเบิดจนทำให้ตาบอดตั้งแต่ตอนนั้น จากนั้นผมก็เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ได้เจอกับ Miss Genevieve Caulfield ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ บอกให้ผมท่องสามคาถานี้ไว้ 1.เชื่อว่าคนตาบอดทำได้ทุกอย่าง 2.ต้องรู้จักให้ 3.เมื่อช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็ให้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อ ก็ยึดคาถานี้ไว้ขึ้นใจจนถึงปัจจุบัน เมื่อตอนเรียนจบ ม.ศ.5 มีความตั้งใจอยากจะเรียนกฎหมายเหมือนคนตาบอดในโลกตะวันตก แม้ว่าเมืองไทยในขณะนั้นจะห้ามคนตาบอดประกอบอาชีพในทุกวิชาชีพ แต่ก็ตั้งใจเรียนกฎหมาย เพื่อจะมาต่อสู้ให้คนตาบอดในไทยมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้อื่น เพราะคิดว่าเรียนอย่างอื่นไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ทางกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย อยากให้เรียนอักษรศาสตร์ เพื่อหวังว่าเมื่อศึกษาสำเร็จแล้วจะได้กลับมาเป็นครูที่โรงเรียนสอนคนตาบอด แต่คิดแล้วก็เป็นไปได้ยาก เพราะตำแหน่งครูเต็มอยู่แล้ว แต่เพื่อนของผมตัดสินใจไปเรียนอักษรศาสตร์ ส่วนผมตัดสินใจเรียนกฎหมาย ก็ถูกทางมูลนิธิตำหนิมาว่าสูญเปล่า เรียนกฎหมายมาก็เอาไปทำอะไรไม่ได้

ในเมื่อโลกตะวันตกเขาออกแบบกฎหมายได้ดี ในเมืองไทยน่าจะต่อสู้เพื่อให้คนตาบอดประกอบอาชีพกฎหมายได้ เมื่อผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ก็ทุ่มเทเรียนกฎหมาย และตั้งใจว่าจะต้องทำออกมาให้ดี ช่วงที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้พบกับความโชคดี คือมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าราชการและพลเรือน ในปี 2518 ตามที่เคยระบุว่า คนพิการทุพพลภาพเป็นคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นข้าราชการ และมีการเพิ่มข้อความไปอีกว่า จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้คนพิการที่เรียนจบต่างประเทศสามารถกลับมาเป็นข้าราชการได้เหมือนกับคนอื่น

ในยุคนี้ถือเป็นยุคธรรมศาสตร์สร้างอาจารย์ อยากให้เป็นมหาวิทยาลัยวิชาการแบบต่างประเทศ ศ.ปรีดี เกษมทรัพย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ในขณะนั้น ต้องการสร้างอาจารย์ประจำมารองรับกับการปรับเปลี่ยนของมหาวิทยาลัย ด้วยวิธีการรับบัณฑิตปริญญาตรีที่มีผลการเรียนดี เพื่อหาทุนการศึกษาให้บัณฑิตเหล่านี้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งตนก็ได้รับโอกาสไปศึกษาที่ Law School ของมหาวิทยาลัย Harvard โดยตนไม่ได้สอบวัดคะแนนทักษะภาษาอังกฤษเนื่องจากติดขัดปัญหาบางอย่าง จึงได้ไปพูดคุยกับคณบดีของ Harvard Law School ท่านก็ได้ถามว่า หากเธออยากจะมาเรียนที่นี่ ฉันขอถามคำเดียว ทำไมฉันต้องรับเธอเข้าเรียน ถ้าเธอตอบได้ ฉันจะรับ ผมก็ตอบไปว่า Harvard มีชื่อเสียงอย่างมากในด้านสิทธิมนุษยชน คนที่ทำงานเพื่อสังคมในประเทศผมล้วนจบจากที่นี่ ผมก็มาเรียนเพื่อจะไปทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพราะคนพิการในประเทศไทยยังถูกจำกัดสิทธิ ประกอบอาชีพอะไรก็ไม่ได้ ผมต้องการแบรนด์ Harvard ติดหน้าผาก ถ้ามีแบรนด์ Harvard เวลาคุยกับใครเขาก็อยากคุยด้วย ถ้าไม่มีแบรนด์นี้ไปคุยกับใครเขาก็ไม่สนใจ และผมได้เข้าเรียนที่นี่

อีกความท้าทายของผมคือการได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ภายใน 5 ปี คนเดียวของประเทศไทย เนื่องจากผมจบเนติบัณฑิตพร้อมกับปริญญาตรีจึงตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ภายใน 5 ปี จากปกติที่ใช้เวลาถึง 10 ปี เพราะในตอนนั้นเนติบัณฑิตเทียบเท่าปริญญาโทจึงสามารถขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้

เคยเขียนหนังสือเพื่อให้กำลังใจผู้คนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในชื่อ ‘สู้ชีวิต เคราะห์สร้างโอกาส’ เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้อ่านแล้วรู้สึกชอบวิธีคิดของผม จึงชวนไปร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และได้อยู่ในกลุ่มการศึกษา โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย เป็นหัวหน้าทีม ได้บอกกับนายทักษิณว่ามีนโยบายที่จะให้คนพิการทุกคน มีสิทธิได้รับการศึกษาเหมือนตนเอง แต่นายทักษิณบอกว่าใช้เงินจำนวนมากเพราะต้องขยายศูนย์การศึกษาพิเศษถึง 77 แห่ง ตนจึงเสนอให้ออกสลากการกุศลเหมือนในประเทศตะวันตก เมื่อนายทักษิณได้ยินเช่นนั้นจึงเสนอนโยบาย ใครอยากเรียนต้องได้เรียน ไม่ใช่แค่เฉพาะคนพิการ จึงทำให้ผมเองต้องทุ่มเทขยายศูนย์การศึกษาพิเศษร่วมกับ ผศ.ดร.เบญจา ชลธาร์นนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนด้านการศึกษาพิเศษคนเดียวในประเทศ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยการสร้างศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัด เริ่มจากการให้ครูจากศูนย์การศึกษาพิเศษทั้ง 9 แห่ง ไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และไปครบทั้ง 77 จังหวัด จากนั้นได้ขอเพิ่มอัตราครูปีละ 200 คน โดยตนเองและ ผศ.ดร.เบญจาได้เดินทางไปดูแลการสอนของครูแต่ละศูนย์

เมื่อจำนวนครูมากขึ้นเราจึงสามารถร่างกฎหมายยกระดับวิทยาลัยครู เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อที่จะได้ผลิตครูมากขึ้น จากนั้นจึงได้มีการยกระดับทุกวิทยาลัย อย่างสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเป็นมหาวิทยาลัยร่วมด้วย ก็เป็นหัวหน้าทีมกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรี ซึ่งหน้าที่ของทีมกฎหมาย คือจะต้องรับกฎหมายปฏิรูปการศึกษาของคณะปฏิรูป และจากที่อื่นๆ มาบูรณาการเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ

พอเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี 2549 จึงถือโอกาสเตรียมยกร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เคยทำไว้ในยุครัฐบาลนายทักษิณ อย่างเรื่องการจ้างงานและการศึกษา คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยนำ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ที่มีมาอยู่แล้วมาบวกเข้ากับเรื่องโควต้าการจ้างงาน ซึ่งโดยปกตินายจ้างไม่ยอมรับการทำงานของผู้พิการเท่าใดนัก เราจึงเขียนกฎหมายเป็นสภาพบังคับในการจ้างงาน ประเทศไทยจึงเป็นที่เดียวในเอเชียที่มีสภาพบังคับ ส่วนที่อื่นจะเป็นตามความสมัครใจ เรื่องการศึกษาเรามีปัญหาใหญ่มาก เด็กพิการจะไปเรียนรวมกับคนทั่วไปจะถูกปฏิเสธตลอด ผมจึงเขียนใน พ.ร.บ.การศึกษาสำหรับคนพิการว่าโรงเรียนไหนปฏิเสธรับคนพิการ ให้ถือว่าเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และต้องจ่ายค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้ผู้พิการไม่มีอุปสรรคในการเรียนเพราะสามารถเรียนได้ฟรีและเรียนที่ไหนก็ได้

ส่วนงานด้านมูลนิธิเราจะมุ่งช่วยเหลือผู้พิการในชนบท เรื่องการช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการในเมืองเราก็ไม่ได้ละเว้น เพียงแต่งานที่เราทุ่มเทช่วยเหลือคือผู้พิการในชนบท เรามีการฝึกอาชีพให้กลุ่มคนพิการทั้งสองกลุ่ม ทั้งการฝึกทำอาหาร ขนม เครื่องดื่ม แต่กลุ่มผู้พิการในชนบทจะได้รับการฝึกอาชีพด้านการเกษตรเพิ่มเติม

⦁ความตั้งใจที่ลงสมัคร ส.ว.ครั้งนี้

ผมสมัคร ส.ว. เพราะมาจากการเรียกร้องของคนตาบอดด้วยกัน ทางสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยมีความเห็นว่าผมเหมาะสมในการจะเข้ามาสมัคร ส.ว. เราจำเป็นมากที่จะต้องมีกระบอกเสียงที่เป็นตัวแทนจากฝั่งคนพิการ อย่างที่ผมบอกว่าสังคมเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนพิการ หากเราไม่มีตัวแทนที่จะไปเป็นปากเป็นเสียงในสภา กฎหมายอาจจะไม่ถูกผลักดันเท่าที่ควร ผมมั่นใจกับการลงสมัคร ส.ว.ในครั้งนี้พอสมควร

ส่วนกติกาขอการเลือก สว.ครั้งนี้คิดว่า จะช่วยให้ความเป็นการเมืองเข้ามายุ่งได้ยากขึ้น เพราะหากเป็นระบบเดิมก็หนีไม่พ้นกลุ่มการเมืองอยู่ดี สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของกติกาคัดเลือก ส.ว.ที่ผ่านมานั้น ปัญหาใหญ่ของการเลือก ส.ว. ที่ผ่านมาคือเพื่อประโยชน์ของผู้แต่งตั้ง เป้าหมายก็เป็นเช่นนั้นอย่างที่เห็นในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

⦁ความเชื่อมั่นในการคัดเลือกว่าครั้งนี้จะได้ผู้ที่เหมาะสมเข้ามาเป็น ส.ว.

ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าการเลือก ส.ว.นั้นจะทำให้เหล่า ส.ว.ถูกกระจายไปยังกลุ่มต่างๆ เพราะบรรดากลุ่มต่างๆ ก็มีโอกาสเยอะที่จะเป็นตัวแทนได้เข้าไปนั่ง ส.ว.

⦁ในฐานะที่ ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย อยากเห็นรัฐธรรมนูญมีหน้าตาอย่างไร

ตามที่ผมเคยเป็น สนช. ผมมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ควรสามารถเสิร์ฟให้กับคนทุกกลุ่ม เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการร่างมาจากคนทุกกลุ่ม เหมือนกับรัฐธรรมนูญที่เรากำลังร่างในตอนนี้ ผมมองว่าเราควรที่จะมีตัวแทนที่เป็น ส.ว.มาจากคนทุกกลุ่มเหมือนต่างประเทศเพื่อให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสได้ตรวจสอบและทวงถามสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับผ่านกฎหมาย

⦁มีความคิดเห็นอย่างไรกับแคมเปญของไอลอว์และคณะก้าวหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนมาสมัคร ส.ว.

เห็นด้วยกับสิ่งที่ไอลอว์ทำแคมเปญนี้ เป็นแคมเปญที่ดี ต้องพยายามปลุกคนไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าจะจะมีการปลุกให้คนเข้ามามีส่วนร่วมแล้วแต่คนยังไม่มีส่วนร่วมมาก อย่างน้อยก็ยังมีการตื่นตัวของประชาชนในระบบการปกครองประชาธิปไตย ยิ่งมีการปลุกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีประโยชน์เท่านั้น

แม้หลายคนอาจจะมองว่าการรณรงค์ของกลุ่มไอลอว์และคณะก้าวหน้านั้นไม่ต่างกับการฮั้วของกลุ่มบ้านใหญ่ ผมยอมรับว่าอาจมีการฮั้วกันได้ ถึงแม้บ้านใหญ่ฮั้วกันได้แต่สุดท้ายจะได้ไปแค่คนสองคน เราไม่รู้ว่าคนสองคนที่จะเข้าไปได้ในรอบแรกๆ คนอื่นที่เหลืออยากจะเลือกเขาหรือไม่ นับเป็นจุดอ่อนของระบบการเลือกไขว้ครั้งนี้

ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/politics/news_4556125

ที่มา: matichon.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 พ.ค.67
วันที่โพสต์: 7/05/2567 เวลา 15:16:18 ดูภาพสไลด์โชว์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กระบอกเสียงผู้พิการชิง ส.ว.