เติมหัวใจให้ “สายสีแดง” อบรมผู้ให้บริการผู้โดยสารพิเศษ

เติมหัวใจให้ “สายสีแดง” อบรมผู้ให้บริการผู้โดยสารพิเศษ

“การตอกย้ำจากสังคมทำให้ความพิการรุนแรงขึ้น”

“เรามีภาษามือ เรามีภาษาเขียน แล้วก็ใช้สีหน้าท่าทาง คนหูหนวกใช้รูปแบบในการสื่อสารหลากหลาย”

“ถ้าเราไปบอกว่าจะให้ความช่วยเหลือแล้วเขาปฏิเสธ ก็ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ต้องกังวล เพราะความต้องการของแต่ละคนแตกต่างกัน”

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สถานีกลางบางซื่อ (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) ชั้นลอย ฝั่งประตู 4 มีการจัดอบรมพนักงานปฏิบัติการตาม “โครงการอบรมการให้บริการผู้โดยสารพิเศษอย่างถูกต้องและปลอดภัย”

การอบรมครั้งนี้เกิดจากทำงานร่วมกันของเครือข่ายคนพิการ และผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – หลักหก) เพื่อยกระดับการให้บริการผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารพิเศษ คนพิการ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยยกระดับสู่การให้บริการที่ถูกต้องและปลอดภัย สมดังคำมั่นสัญญาของผู้ให้บริการว่าจะมุ่งมั่น พัฒนา และสร้างความเชื่อมั่นเพื่อผู้โดยสารทุกคน

ผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน ประกอบด้วยพนักงานระดับปฏิบัติงานฝ่ายต่างๆ ได้แก่ นายสถานี พนักงานขับรถไฟฟ้า พนักงานจำหน่ายตั๋ว พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ทีมวิทยากรประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มคนจิตสังคม กลุ่มทางการได้ยิน กลุ่มทางการเห็น และกลุ่มคนใช้รถเข็น

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ ผู้ผลักดันให้เกิดการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนของผู้พิการมายาวนาน หนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดการอบรมครั้งนี้ให้ความเห็นว่า

“เราทำงาน ผลักดัน ขับเคลื่อนให้ รฟฟท. เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา อยากให้การอบรมแบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายไปยัง operator อื่นๆ แล้วในที่สุดการให้บริการผู้โดยสารพิเศษทุกประเภทก็จะเริ่มดีขึ้น สร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป”

เครือวัลย์ เที่ยงธรรม

รักษาการนายกสมาคมเสริมสร้างชีวิต

คุณมองฉันสิว่ามีความพิการมั้ย ไม่มีเหรอคะ ใครว่าไม่มี ใช่ค่ะ เวลายื่นบัตรคนพิการก็จะมีคนมองว่าคนนี้พิการตรงไหน นี่คือความพิการทางจิตสังคม มันมองไม่เห็น มันอยู่ในการทำงานของสมอง เป็นประสบการณ์ความยากลำบากทางอารมณ์และความคิด ความรู้สึก การรับรู้ ทำให้เราไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในด้านความพิการหลายๆ อย่างได้ แต่จะยังไงก็ตาม การที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคม คำว่า “จิตสังคม” หมายความว่ามันมีส่วนหนึ่งในความบกพร่องอยู่ที่ตัวของเรา แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่สังคม อยู่ที่ว่าสังคมเข้าใจหรือปฏิบัติต่อเรายังไง

คนไม่ค่อยคุ้นชินกับคำว่าคนพิการทางจิตสังคม ความพิการทางจิตสังคม หรือ Psychosocial Disability พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมทั้งของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้คำว่าพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม แต่ว่าโดยทั่วไปในโลกนี้ คำที่ไม่บาดเจ็บมากเท่านั้น ใช้คำว่าการพิการทางจิตสังคม

ถ้าใครบอกว่า เขาเป็นคนพิการทางจิต ความรู้สึกของเราเป็นยังไง พอดิฉันบอกว่าเป็นคนพิการทางจิตสังคม คนรู้สึกกลัวขึ้นมาหรือเปล่า เดี๋ยวแกจะทำอะไรแปลกๆ หรือเปล่า หรือมีอะไรที่เป็นเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นหรือเปล่า โดยเฉพาะถ้ามีการตอกย้ำในสื่อที่ไม่เข้าใจ เช่นนางร้ายเป็นนางร้ายมาตลอดทั้งเรื่อง สุดท้ายก็ไปจบที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เสียสติไป เป็นการตอกย้ำจากสังคมทำให้ความพิการนั้นรุนแรงขึ้น

ความพิการทางจิตสังคมเกิดจากโรคจิตเวช ในชีวิตของเรา เขาบอกว่าทุกคนจะมีโอกาสพบคนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชอย่างน้อย 1 คน

ถ้าเจ้าหน้าที่จะให้บริการคนพิการทางจิตสังคม เราอาจจะไม่ต้องใช้แรงกายเท่าไหร่ แต่ต้องมี 3 อย่างตามหลักการสากล คือ มีความรู้ มีความเข้าใจ และมีความอดทน

ถ้ามีคนที่ประคับประคองเขาไว้อยู่รอบด้าน เขาก็จะไม่ล้มลง การเจ็บป่วยทางอารมณ์อย่างรุนแรงก็จะบรรเทาลง แล้วกลับไปสู่สมดุลได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าสมมุตว่าในชีวิตของเรา เราเป็นคนโดดเดี่ยว ไม่มีใครจะมาประคับประคองเวลาที่เรามีความบาดเจ็บทางอารมณ์อย่างรุนแรง เมื่อนั้นเราก็จะป่วยด้วยโรคจิตเวชได้

พอป่วยด้วยโรคจิตเวชแล้วก็ยังไม่หมดความหวัง เมื่อได้รับการบำบัดรักษา ได้รับการฟื้นฟู เขาก็จะกลับมามีชีวิตที่สมดุล และกลับมาสู่ปกติสุขได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ในช่วงที่ชีวิตเสียสมดุลไปนั้น เขาต้องการการบำบัดรักษา

ขึ้นอยู่กับว่าเรามีคนสนับสนุน หรือโดดเดี่ยว ถ้าเรามีคนสนับสนุนก็มีโอกาสฟื้นเร็ว กลับมาสมดุลอีกครั้ง แต่ถ้าเราโดดเดี่ยว เราเสียสมดุล แล้วก็ป่วย

นัดดา มัยโรฒ

ฝ่ายจัดบริการล่ามภาษามือ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

คนหูหนวกที่ไม่ได้ยิน 100 เปอร์เซ็นต์เลยใช้การอ่านปากได้ แล้วก็ใช้ภาษามือในการสื่อสาร ภาษาที่หนึ่งของคนหูหนวกคือภาษามือ แต่คนหูดีจะใช้การพูด เหมือนกับคนหูหนวกใช้ภาษามือ

คนหูหนวกใช้ภาษามือในการคุยกัน คนหูดีเจอกัน เฮ้ย เสื้อตัวนี้สวยมั้ย ต่างหูฉันสวยมั้ย คนหูหนวกมีวัฒนธรรมของตัวเอง สีหน้าของคนหูหนวกจะชัดมากเวลาจะสื่อสารอะไร คนหูหนวกใช้สายตาในการดูด้วยนะ ไม่ว่าทำอะไรก็แล้วแต่จะใช้สายตาในการสื่อสาร สายตาเหมือนเครื่องช่วยชีวิต

คำว่า “ใบ้” เป็นคำที่ไม่ดี ถ้าเจอคนหูหนวกอย่าไปเรียกเขาว่าใบ้ เป็นคำที่ด้อยคุณค่ามาก คำว่า ใบ้ ความหมายคือคนที่ไม่มีการศึกษา คนที่ไม่สามารถสื่อสาร ซึ่งไม่ใช่คนหูหนวกเพราะพวกเขาสื่อสารกันผ่านภาษามือ ให้เรียกเขาว่าคนหูหนวกอย่างเดียวก็พอ หรือจะเรียกว่าผู้บกพร่องทางการได้ยินก็ได้ แต่คำว่า “ใบ้” ไม่อยากให้ใช้คำนี้

เรามีภาษามือ เรามีภาษาเขียน แล้วก็ใช้สีหน้าท่าทาง ใช้การอ่าน คนหูหนวกใช้รูปแบบในการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ การสื่อสารผ่านสายตาจะมีความไวเป็นพิเศษ

คนหูหนวกบางคนได้ยินนะ แต่พูดไม่ได้ บางคนไม่ได้ยินเลย แต่พูดได้ คนหูหนวกที่ไม่ได้ยินและพูดไม่ได้เลยก็มี บางคนใช้งานเขียน ใช้มือช่วย ใช้สีหน้าในการฟัง

คนหูหนวกจะมองซ้ายมองขวา เพราะว่าเขาไม่ได้ยินเสียง เขาใช้สายตาในการมอง เขาจะพยายามมากกว่าคนอื่นเพราะไม่ได้ยิน

ภาษามือที่ใช้อยู่ไม่ได้เป็นภาษาสากลนะ ภาษามืออเมริกากับภาษามือไทยแตกต่างกัน คำว่าสวัสดีภาษามือต่างกัน คำว่าขอบคุณไทยกับญี่ปุ่นก็ต่างกัน ภาษามือไทยก็คือเป็นของภาษาไทยของประเทศไทย

ฐิดาพร พิมพ์สิโคตร

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การให้บริการของเจ้าหน้าที่ สำหรับคนพิการที่ใช้วีลแชร์จะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ รถแบบแมนนวล ใช้มือในการขับเคลื่อน และรถวีลแชร์ไฟฟ้า มีมอเตอร์ ไม่ต้องใช้มือเข็น

สายสีแดงมีช่องหว่างระหว่างชานชาลากับตัวรถ ต้องระมัดระวัง คนใช้วีลแชร์ที่มีความแข็งแรงค่อนข้างมากขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นวีลแชร์ไฟฟ้าอาจจะจำเป็นต้องใช้ทางลาดช่วยในการขึ้นลงระหว่างสถานีต้นทางและปลายทาง ถ้าสังเกตจะเห็นว่าขอบประตูด้านล่างกับชานชาลาสูงไม่เท่ากันทำให้การขึ้นลงรถต้องระมัดระวังเพิ่ม

คนใช้รถวีลแชร์ที่มีกำลังแขนไม่มากพอ หรือมีขีดจำกัดที่ไม่สามารถข้ามช่องว่างด้วยตนเองได้ ก็จำเป็นต้องใช้ทางลาด ถ้าไม่มีทางลาดเจ้าหน้าที่สามารถช่วยผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ได้ด้วยการพยุงหลังของรถ ยกล้อหน้าขึ้น ข้ามช่องว่างระหว่างชานชาลา แต่ในกรณีนี้ต้องระมัดระวังเพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ จะให้เจ้าหน้าที่ส่งถึงพื้นที่สำหรับวีลแชร์มั้ย ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ถามเขาก่อนว่าต้องการให้ช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด

อยากให้ทุกคนมองเขาเหมือนคนทั่วไป ไม่ต้องมองว่าเขาอ่อนแอ น่าสงสาร เราต้องช่วยเหลือเขาเป็นพิเศษ แต่ละคนมีขีดข้อจำกัดที่แตกต่าง

ไม่ใช่การเปรียบเทียบว่าใครดีใครไม่ดี ใครเก่งใครไม่เก่ง แต่ว่าสภาพร่างกายต่างกัน คนเราต่างกัน คนพิการหลายคนสามารถข้ามช่องว่าง หรือขึ้นบันไดได้ ความจริงไม่ใช่แค่คนพิการ พวกเราที่นั่งอยู่ในนี้สภาพร่างกายก็ต่างกัน

โดยสรุป คนพิการที่นั่งวีลแชร์ ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลืออะไรมาก เพียงแต่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ ไม่ว่าจะเป็นความกว้างของประตูที่วีลแชร์สามารถเข้าไปได้ ทางลาด หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกเขาก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ปกติ เพียงแต่เราต้องทำความเข้าใจกับเขา ยิ่งเรารู้มาก เราก็จะยิ่งช่วยเหลือผู้โดยสารที่มีความต้องการพิเศษได้ดี

สุนทร สุขชา

ฝ่ายกฎหมายสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

คนตาบอดมีหลายลักษณะ ทั้งที่เป็นคนตาบอดสนิทแบบผม สถานที่ที่เราไม่เคยไปเลยเราก็ต้องการคนนำทาง อาจเป็นเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในแต่ละจุด เพื่อนที่เดินทางมาด้วยกัน หรือคนที่เราพบเราเจอ ที่ที่ไม่เคยไปเราจะไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน แต่ถ้าเป็นสถานที่ที่เคยไปครั้ง สองครั้งหรือสามครั้ง เราจะจำแผนที่ได้ ว่าถึงตรงนี้จะเลี้ยวไปตรงไหน ผมเองถ้าเคยไปที่ใดก็จะจำได้เลยว่าพื้นที่นั้นร้านกาแฟ ร้านข้าวมันไก่อยู่ตรงไหน มันเป็น mapping ในสมองเรา ใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่นที่เรายังมีอยู่ในการสังเกต อย่างเช่นกลิ่น เสียง ประสาทสัมผัสอื่นๆ ที่เรายังมี ในการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมนั้น บางทีคนตาดียังไม่เห็น แต่คนตาบอดรู้แล้ว เพราะเราได้กลิ่น รู้แล้วว่าข้างหน้ามีร้านอาหารแน่

คนตาบอดอีกลักษณะหนึ่งคือสายตาเรือนราง พอจะมองเห็น บางคนมองเห็นจนสามารถอ่านป้าย สายรถเมล์ มองเห็นตัวเลข การแจ้งเตือนที่สถานีต่างๆ กลุ่มนี้ไม่ถึงขั้นว่าต้องไปซับพอร์ตอะไรเขามากมาย เขาสามารถเดินทางด้วยตัวเองได้

ถ้าเป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ สายตาเรือนราง พอมองเห็นบ้าง เราไปบอกว่าจะให้ความช่วยเหลือแล้วเขาปฏิเสธ ก็ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ต้องไปคิดว่าเฮ้ย คราวหลังไม่ถามแล้ว ไม่ต้องกังวล เพราะความต้องการของแต่ละคนแตกต่างกัน ความต้องการในการให้ความช่วยเหลือของคนพิการแต่ละคน โดยเฉพาะประเภทเดียวกันก็ตาม มันมีหลายลักษณธ

ผมใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นปกติในการดำรงชีวิต เดินทางไปทำงาน ผมใช้รถไฟฟ้าเป็นหลัก นอกเหนือจากไปสถานที่อื่นที่ไม่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าก็จะใช้ขนส่งสาธารณะอื่น เรียกผ่านแอพลิเคชันต่างๆ ยุคนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ทำให้คนพิการแต่ละประเภทมีความสะดวกขึ้นมาก เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ใช่คนพิการอย่างเดียว ผมคิดว่าคนทั่วไปเองก็สะดวกมากขึ้น

ผู้เข้าร่วมอบรมคงจะคุ้นกับคนพิการอยู่แล้ว โดยเฉพาะหน่วยหน้าที่คอยให้บริการคนพิการ เพื่อนๆ พี่ๆ รปภ. เจอกันเป็นประจำ เวลาเดินทางกับเจ้าหน้าที่ รปภ. ผมจะคอยแนะนำ บางสถานีเจ้าหน้าที่ขายตั๋วยังมาช่วย รปภ. นำทางคนตาบอด เพราะ รปภ. ไม่พอ แต่คนที่มีความต้องการเป็นพิเศษ คนพิการ มีจำนวนมากจนทำงานไม่ทัน มีเจ้าหน้าที่ข้างในห้องมาช่วย เจอหลายรูปแบบ คนที่เพิ่งมาเข้ามาทำงานงานใหม่เลยก็มี ถ้าเจอผมจะให้คำแนะนำ บอกเขาว่าวิธีการช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก คนตาบอด ควรเป็นอย่างไร

จะอธิบายพื้นฐานเบื้องต้นที่ทุกๆ คนสามารถนำไปใช้งานได้จริง คนทำงานให้บริการก็คงจะต้องพบเจออยู่แล้ว

คนตาบอด คนนั่งวีลแชร์เจ้าหน้าที่คงจะคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่คนพิการประเภทอื่น โดยเฉพาะคนพิการทางจิตสังคมก็ดี อย่างอื่นก็ดี บางทีก็ยังไม่คุ้นเคย ยังไม่รู้จักวิธีการช่วยเหลือสักเท่าไหร่

ขอบคุณ... https://www.sarakadee.com/2024/03/06/bus-red-line/

ที่มา: sarakadee.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 มี.ค.67
วันที่โพสต์: 7/03/2567 เวลา 14:14:12 ดูภาพสไลด์โชว์ เติมหัวใจให้ “สายสีแดง” อบรมผู้ให้บริการผู้โดยสารพิเศษ